เจ้าเรือน


ยส  พฤกษเวช


"เจ้าเรือน"  ความหมายทั่วไป  ผู้เป็นหัวหน้า  ประจำอยู่  ครอบครองอยู่

ถ้าใช้กับบุคคล หมายถึง  ผู้เป็นหัวหน้าซึ่งครอบครองเรือน

ถ้าใช้กับนิสัยบุคคล  หมายถึง  นิสัยซึ่งประจำอยู่ ในจิตใจ  เช่น  มีโทสะเป็นเจ้าเรือน

ถ้าใช้ทางโหร  หมายถึง  ดวงดาวเจ้าของราศี

เจ้าเรือนในแพทย์แผนไทย  ใช้ในตัวบุคคล  เรียก สมุฏฐานเจ้าเรือน โดยพิจารณาช่วงปฏิสนธิ




ในฤดู  เรียก ฤดูสมุฏฐาน หรือ อุตุสมุฏฐาน  คือ

ฤดูร้อน      มีสมุฏฐานปิตตะ        เป็นเจ้าเรือน

ฤดูฝน       มีสมุฏฐานวาตะ          เป็นเจ้าเรือน 

ฤดูหนาว   มีสมุฏฐานเสมหะ        เป็นเจ้าเรือน


ใช้ในช่วงอายุ  เรียก  อายุสมุฏฐาน  คือ 
ช่วงปฐมวัย  แรกเกิด           ถึง  ๑๖ ปี       มีเสมหะเป็นเจ้าเรือน
ช่วงมัชฌิมวัย  ๑๖ ปี           ถึง  ๓๐  ปี      มีปิตตะสมุฏฐานเป็นเจ้าเรือน
ช่วงปัจฉิมวัย  ๓๐ ปีขึ้นไป   ถึงอายุขัย      มีวาตะเป็นเจ้าเรือน



ใช้ในกาล  เรียก  กาลสมุฏฐาน  คือ
๐๖.๐๐  น.  -  ๑๐.๐๐  น. ;  ๑๘.๐๐  น. -  ๒๒.๐๐  น.  เสมหะเป็นเจ้าเรือน
๑๑.๐๐  น.  -  ๑๔.๐๐  น. ;  ๒๓.๐๐  น. -  ๐๒.๐๐  น.  ปิตตะเป็นเจ้าเรือน
๑๕.๐๐  น.  -  ๑๘.๐๐  น. ;  ๐๓.๐๐  น. -  ๐๖.๐๐  น.  วาตะเป็นเจ้าเรือน 

ความเข้าใจในเรื่องเจ้าเรือน สามารถนำมาทำความเข้าใจในกรณีพิจารณา
ภาวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  เช่น

ความร้อนของร่างกาย  มีเจ้าเรือนอยู่ที่อุณหภูมิ ๓๖ . ๕ องศาเซลเซียส
ในบริเวณ ลูกตา ช่องปาก หลอดอาหาร ช่องคลอด 
เจ้าเรือนของบริเวณดังกล่าว  ต้องมีความชุ่มชื้น  แห้งไม่ได้ เป็นต้น



เราสามารถนำความรู้ความเข้าใจเรื่องเจ้าเรือน มาใช้ควบคู่กับการใช้ชีวิตประจำวัน และการใช้รักษาคนไข้ โดยมีหลักคิดพิจารณา คือ  “  อย่าให้เสียเจ้าเรือน  ”  เช่น  หากต้องการขับเสมหะที่บริเวณ ศอเสมหะ ก็ไม่ควรที่จะขับเสมหะให้มากเกินไปหรือให้หมดไป จนทำให้บริเวณดังกล่าวขาดความชุ่มชื้น หรือ หากจะลดไข้หรือลดความร้อนคนไข้ ก็อย่าให้ยาลดไข้หรือความร้อนจนคนไข้เกิดภาวะเย็น  อย่างนี้เป็นต้น

ความเข้าใจเรื่องเจ้าเรือนนำมาใช้กับการกินอาหารประจำวันได้ ดังนี้



ในช่วงเช้า สมุฏฐานเจ้าเรือนคือเสมหะ ซึ่งมีภาวะเย็น  ดังนั้นในช่วงเช้าจึงไม่ควรกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เย็น เพราะจะทำให้เกิดภาวะเย็นเพิ่มมากขึ้น เรียกว่า “ อาคันตุกะเสมหะเข้าแทรก ”  ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะเย็น หนักเนื้อหนักตัว กลับกันก็ไม่ควรกินอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน เพราะจะทำให้เกิดภาวะเสมหะแห้ง  นานไประบบทางเดินอาหารแปรปรวน เกิดภาวะท้องเสียได้  อาหารที่เหมาะสมควรเป็นอาหารที่มีรสสุขุม คือ ไม่เผ็ดร้อน หรือ เย็นเกินไป

ในช่วงกลางวัน  สมุฏฐานเจ้าเรือน คือ ปิตตะ  ซึ่งมีภาวะร้อน  ตามปกติ ร่างกายจะปรับตัว ให้ตัวร้อนขึ้นตั้งแต่ตอนเช้าและจะร้อนมากที่สุดในตอนกลางวัน  ดังนั้นในช่วงกลางวันร่างกายจะมีความร้อน  จึงไม่ควรกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์ร้อน เพราะจะทำให้เกิดภาวะร้อนเกิน เป็น “ อาคันตุกะปิตตะเข้าแทรก ”  มีภาวะร้อนเกิน  จะเกิดความไม่สบายตัว ไส้ร้อน  นานเข้าจะเกิดภาวะเสมหะแห้ง  ระบบทางเดินอาหารจะมีปัญหาในอนาคต  อาจมีภาวะท้องผูกพรรดึก เป็นต้น

ในช่วงกลางวันไม่ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น  เพราะจะทำให้เสียเจ้าเรือนได้  ช่วงกลางวันร่างกายต้องร้อน  เพื่อช่วยเรื่องการย่อย การขับเคลื่อน ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย  ดังนั้นอาหารในช่วงกลางวัน ควรเป็นอาหารที่มีรสสุขุม ๆ   ไม่เย็น ไม่ร้อนเกินไป เพื่อไม่เสียเจ้าเรือน


ในช่วงเย็น  สมุฏฐานเจ้าเรือน คือ วาตะ  ในช่วงนี้ร่างกายจะผ่อนคลายความร้อนลง  เพื่อเตรียมพร้อมกับการพักผ่อนในตอนกลางคืน  แต่อย่างไรก็ตามร่างกายยังต้องการความร้อนอยู่บางส่วนเพื่อสร้างความอบอุ่น 

ดังนั้นหากต้องการกินอาหารมื้อเย็น  ไม่ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น หรือฤทธิ์ร้อน  ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์สุขุม ๆ คือ ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป  เพราะจะเกิดภาวะ “ อาคันตุกะวาตะเข้าแทรก”  ระบบการย่อยอาหารจะเกิดปัญหา  จะเกิดภาวะท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เศษอาหารตกค้าง  เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย

ดังนั้น อาหารและเครื่องดื่มในแต่ละช่วงเวลา  ไม่ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์ หรือ รสเผ็ดร้อน หรือ เย็นเกินไป ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์สุขุม ๆ  และควรปรับอาหารให้สอดคล้องกับฤดูที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย 

เช่น

ในฤดูร้อน   ควรปรับอาหารให้มีฤทธิ์ในทาง   สุขุมเย็น
ในฤดูฝน     ควรปรับอาหารให้มีฤทธิ์ในทาง   สุขุมร้อน
ในฤดูหนาว  ควรปรับอาหารให้มีฤทธิ์ในทาง  สุขุมสุขุม

สรุป  ในทางการแพทย์แผนไทย  ในการรักษา หรือ การกินอาหารในชีวิตประจำวันต้องหมั่นพิจารณา “  เจ้าเรือน  ”และ  “  อย่าให้เสียเจ้าเรือน  ”

บทความนี้ข้าพเจ้าเขียนขึ้นมาจากความเข้าใจของตนเอง อาจไม่ตรงกับความคิดของบางท่าน
หากท่านใดมีความคิดเห็นเป็นอื่น  ก็สามารถแสดงความคิดเห็น  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันได้นะครับ

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น