กินอาหารตามธาตุ


โดย  ยส  พฤกษเวช

คำว่า  "ธาตุ"  ในที่นี้ขอให้คำนิยามไว้ดังนี้
" ธาตุ "  หมายถึง  " สภาวะสภาพ " 
ดังนั้น การกินอาหารตามธาตุ  จึงหมายถึง  " การกินอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะสภาพของร่างกาย " นั่นเอง  แทนที่เราจะพูดว่า   " กินอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะสภาพของร่างกาย "  เราเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า  " กินอาหารตามธาตุ "  

แนวคิดการแพทย์แผนจีน กล่าวว่า   " อาหารและยามาจากแหล่งเดียวกัน " 
แนวคิดทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งบันทึกไว้ในคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัด กล่าวไว้ว่า  " โรคเป็นที่ตั้งแห่งกองอาหาร "  กล่าวคือ เราต้องจัดอาหาร  (และหรือยา  ) ให้เหมาะสมสอดคล้องกับโรค

การจัดอาหารให้เหมาะสมสอดคล้องกับโรค กับคนไข้  เราต้องมีความรู้ความเข้าใจกับคำว่าสมุฎฐาน   (ปิตตะ วาตะ เสมหะ )  เข้าใจสมุฏฐานของอาหาร สมุฏฐานของคนไข้  สมุฏฐานของโรค  สมุฏฐานของฤดู เป็นต้น  เข้ามาประกอบกันเพื่อเป็นหลักคิดหลักพิจารณา 

จุดสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพในยามปกติ  ไม่เจ็บป่วย ก็คือ การสร้างความสมดุลของร่างกาย  ความสมดุลที่ว่านี้หมายถึง ความสมดุลของสมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ ความสมดุลของสภาวะ ร้อน เย็น ภายในร่างกาย

หลักพิจารณาสมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ  ร้อน เย็น ร่วมกับอาหาร รสชาติของอาหาร ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ต่ออวัยวะภายในร่างกาย ขออธิบายพอเข้าใจได้ดังนี้



" ปิตตะ "  มีลักษณะเด่นที่ ร้อน  กระตุ้น ให้พลังการเคลื่อนไหว เช่น อาหารรสเผ็ดร้อน  เมื่อกินแล้วจะเกิดความร้อนภายในร่างกาย กระตุ้นการไหลเวียนของพลัง วาตะ  เช่น พวก พริก กระเพรา ยี่หร่า กระเทียม ผักแพรว  ช้าพลู เป็นต้น
กะเพรา

" วาตะ" มีลักษณะเด่นที่ เคลื่อนไหว ไหลเวียน หากขาดการไหลเวียน หรือการไหลเวียนมีปัญหาติดขัด การเจ็บป่วยก็จะตามมา  เช่น พวก พริกไทย ข่า ผักชี กระชาย ตะไคร้ เป็นต้น

" เสมหะ "  มีลักษณะเด่นที่ เย็น ไหลลื่น ซึมซาบ สงบ นิ่ง หยุดยั้ง ยับยั้งพลังของ วาตะ อาหารส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีรสเย็น จืด ขม เช่น มะระ ฟักเขียว แคนตาลูบ บวบ หัวไชเท้า แตงกวา แตงโม ชมพู่ ฝรั่ง มังคุด  แก้วมังกร เป็นต้น

ในแพทย์แผนจีน ได้กล่าวถึงรสชาติของอาหารที่เข้าสู่ส่วนอวัยวะต่าง ๆ ร่างกาย เช่น  รสเปรี้ยว เข้าตับ  รสขมเข้าหัวใจ   รสหวานเข้าม้าม  ( หรือระบบย่อยอาหาร  )   รสเผ็ดเข้าปอด   รสเค็มเข้าไต 

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงสีของอาหารไว้ด้วย ดังนี้
สีเขียวเข้าตับ  สีแดงเข้าหัวใจ    สีเหลืองเข้าม้าม   สีขาวเข้าปอด   สีดำเข้าไต   เป็นต้น
นั่นคือ อาหารที่กินเข้าไปจะไปบำรุง และทำร้าย อวัยวะที่แตกต่างกันในร่างกาย

ในแพทย์ตะวันตก พิจารณาอาหารไปที่สารอาหาร มีการอธิบายที่ชัดเจน ทำการวิจัยแยกแยะสารอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ในอาหาร ทั้งยังแนะนำให้กินอาหารให้ได้สารอาหารครบหมู่ เช่น กลุ่มสารอาหารประเภท คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซี่ยม วิตามิน  เป็นต้น  ปัจจุบันนี้ ยังมีกลุ่มสารอาหารแอนตี้ออกซิแด้นซ์  ก็ถือว่าเป็นหลักคิดที่ดี  แต่สิ่งที่เขาแนะนำนั้น แนะนำให้ไปใช้กับทุกคน ไม่ได้พิจารณาให้เหมาะสมกับสภาวะสภาพของแต่ละบุคคล

ในการแพทย์แผนไทย แนะนำการกินอาหารไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า ให้กินอาหารให้หลากหลายรสชาติไว้ ไม่ให้ซ้ำซากจำเจ  กินให้ครบรส

รสที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาร่วมกับการกินอาหารนั้น  ใช้รสยา ๖ รส ในคัมภีร์วรโยคสาร เป็นหลัก ดังนี้
๑. มธุระ รสหวาน ชอบกับตา เจริญรสธาตุ บำรุงกำลัง

๒. อัมพิละ รสเปรี้ยว ทำให้ ลม ดี เสลด อนุโลมตามซึ่งตน เจริญรสอาหาร กระทำสารพัดดิบให้สุก ถ้าใช้เป็นเกิดคุณ ใช้ไม่เป็นเกิดโทษ

๓. กฏุก รสเผ็ดร้อน ทำให้กำลังน้อย ระงับเกียจคร้าน ระงับพิษไม่ให้เจริญ บำรุงไฟธาตุ ทำให้อาหารสุก

๔. ลวณ รสเค็ม เผาโทษ เผาเขฬะ ให้เจริญไฟธาตุ

๕. ติตติกะ รสขม เจริญไฟธาตุ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ทำให้มูตรและคูถบริสุทธิเจริญรสอาหาร

๖.กะสาวะ รสฝาด เจริญไฟธาตุ เจริญผิวกายและเนื้อ แก้กระหายน้ำ

บทความนี้ขอเพิ่มเติมอีกรสหนึ่งคือ รสมัน
๗. รสมัน  ช่วยบำรุงไขข้อ บำรุงกำลัง

การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพตามหลักแพทย์แผนไทย คือ ให้กินอาหารตามธาตุ มีหลักพิจารณา ดังนี้

๑. เพศ  โดยทั่วไปก็กินอาหารหลากหลายไว้เหมือน ๆ กัน แต่มีปลีกย่อย ๆ บ้าง เช่น ในกรณีกินผัก หญิง ควรกินใบ ชาย ควรกินก้าน หมายความว่า ผู้หญิงควรกินอาหารที่ย่อยง่าย ๆ นั้นเอง หรือ ผู้หญิงควรกินอาหารที่มีรสฝาด ๆ นิด ๆ เช่น พวกขมิ้น ขมิ้นอ้อย ยิ่งดี ส่วนผู้ชาย กินอาหารที่แข็ง ๆ  อาหารที่เข้ากระชายไว้ ในปัจจุบันเด็กผู้ชายเป็นกระเทยง่าย ผู้ปกครองควรให้ลูกกินอาหารที่มีกระชาย ไว้บ่อย ๆ รับรองไม่เป็นกระเทยแน่  เป็นต้น

๒. วัย คนที่มีวัยต่างกัน ก็ต้องกินอาหารที่แตกต่างกัน เช่น วัยเด็ก ก็ต้องเน้นอาหารที่อ่อนนุ่ม ย่อยง่าย มีสารอาหารที่ช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของร่างกาย ได้แก่อาหารที่มีโปรตีนสูง  พอวัยหนุ่ม เป็นวัยที่ต้องทำงาน ต้องเน้นอาหารที่ให้พลังงาน 

ในกรณีของหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือวัยที่ยังมีรอบเดือน การกินอาหารสำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงก่อนมีรอบเดือน ๗ วัน และขณะมีรอบเดือน ไม่ควรกินอาหารที่มีรสเย็น  เพราะจะส่งผลทำให้เกิดการหยุดชะงักของรอบเดือน รอบเดือนไหลไม่สะดวก และบางส่วนอาจตกค้างอยู่ภายใน และลุกลามอาจทำให้เกิดโรคร้ายในอนาคตได้

พอวัยชรา เป็นวัยที่เน้นการพักผ่อน ดังนั้นไม่ควรกินอาหารที่มีไขมัน โปรตีนสูง หรืออาหารที่ให้พลังงานสูง ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย แต่สารอาหารที่จำเป็นสูงนิดหน่อย และปริมาณการกินก็ไม่ต้องมาก เน้นกินพออิ่มไม่เกินอิ่ม และเน้นกินอาหารที่มีผลดีต่อการขับถ่ายด้วย  เช่น กินอาหารประเภท ผักพื้นบ้านมาก ๆ งดเนื้อสัตว์ยกเว้นปลาได้บ้าง  ผลไม้ที่มีรสออกเปรี้ยว ๆ นิด ๆ เป็นต้น วัยชราร่างกายเสื่อมโทรม ต้องเน้นอาหารฟื้นฟูกำลัง  อาหารบำรุงต่าง ๆ  เช่น บำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย  อาหารที่กระตุ้นการไหลเวียนต่าง ๆ ไหลเวียนเลือด เป็นต้น อาหารที่กินก็ต้องเป็นอาหารที่กระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เช่น พวก กะเพรา กระเทียม  ขิง ข่าตะไคร้ มะกรูด เป็นต้น ในกรณี วัยทอง ควรเน้นอาหารที่บำรุงมาก ๆ บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ อาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เป็นต้น

๓. อาชีพ  คนแต่ละอาชีพก็จะกินอาหารที่เหมาะสมแตกต่างกัน คนทำงานสำนักงาน ก็ควรกินอาหารที่อ่อนนุ่ม ย่อยง่าย มีสารอาหารเพียงพอต่อการบำรุงสมอง  กินไม่ต้องมาก เพราะใช้พลังงานการเคลื่อนไหวไม่มาก ไม่ควรกินอาหารที่มีไขมันสูง เลี่ยงได้ก็ดี กินผักมาก ๆ  ส่วนคนที่ทำงานภาคสนาม หรืองานที่ต้องออกแรง ก็ต้องกินอาหารแข็ง ๆ นิดหน่อย เน้นให้พลังงาน   ส่วนคนที่ทำงานนั่งอยู่กับที่นาน ๆ เช่น พนักงานขับรถ ควรกินอาหารที่ย่อยง่าย ๆ อ่อนมาก ๆ ยิ่งดี เพราะลำไส้มักนิ่ง ไม่ค่อยได้ขยับ ควรเน้นอาหารที่บำรุงระบบประสาท อาหารที่กระตุ้นระบบการไหลเวียนได้ดี เช่น พวก อบเชย กระเทียม พริกไทย ขิง ข่า ตะไคร้ เป็นต้น

๔. ลักษณะการเจ็บป่วย  การกินอาหารที่สำคัญมาก ๆ อย่างหนึ่งก็คือการกินอาหารให้สอดคล้องกับลักษณะของการเจ็บป่วย  อย่างเช่น เมื่อเป็นไข้ไม่ควรกินอาหารเผ็ดร้อน อาหารรสเปรี้ยว แต่ถ้าเป็นหวัดควรกินอาหารรสเผ็ดร้อน ออกเปรี้ยวนิด ๆ เช่น ต้มยำ  ถ้าเราเป็นเบาหวาน หากเป็นประเภทที่ ๑ มีการอักเสบติดเชื้อที่ตับ และตับอ่อน ก็ไม่ควรกินอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนหรือรสเปรี้ยว  แต่หากเป็นเบาหวานประเภทที่ ๒ ควรกินอาหารที่มีรสสุขุมออกร้อนนิด ๆ เปรี้ยวหน่อย ๆ แต่เบาหวานทั้ง ๒ ประเภท ควรกินอาหารรสออกขม ๆ เป็นประจำจะดี  หากมีภาวะความดันสูง ไม่ควรกินอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน ที่มีฤทธิ์กระตุ้น หรือกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น แต่ควรกินอาหารที่มีรสออกสุขุม ๆ อุ่น ๆ ออกเปรี้ยวนิด ๆ เพื่อลดไขมัน

การรักษาโรคทุกชนิด นอกจากบำบัดด้วยยาแล้ว ที่สำคัญอย่างมาก คือ การควบคุมเรื่องอาหาร ต้องรู้ว่าอาหารประเภทไหนควรกิน ประเภทไหนควรละเว้น หากผู้ป่วยปฏิบัติได้รับรองว่ามีโอกาสหายสูงมาก อย่างคนเป็นมะเร็ง สิ่งสำคัญในการรักษา คือ การควบคุมดูแลเรื่องคุณภาพของเลือดให้มีภาวะเป็นด่างอ่อน ๆ ห้ามมีภาวะเป็นกรดเด็ดขาด สำคัญมาก  และสิ่งที่จะควบคุมคุณภาพของเลือดได้ดีที่สุดก็ คืออาหาร

อาหารอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ป่วยคือ อาหารแสลง หรือ อาหารแสลงโรค และมักจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ป่วย อาหารแสลงเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้การรักษาโรคไม่ได้ผล  ที่พบเป็นประจำ คนไข้มักถามหมอว่า  " หมอครับกินอะไรดีครับที่ช่วยรักษาโรค "   ซึ่งเป็นคำถามที่ถูกเพียงครึ่งเดียว  ไม่ค่อยจะได้ยินว่า  "  หมอครับไม่ควรกินอะไรครับ ที่จะทำให้หายจากโรค  "
โดยปกติแล้วมนุษย์ทุกคนมีของแสลง หรืออาหารแสลงประจำตัวอยู่ โบราณเรียกว่า อชินธาตุ และมักจะเป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยอยู่เป็นประจำ เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ที่เรียกว่า ภูมิแพ้  หรือโบราณเรียกว่า  อชินโรค

๕. ฤดูกาล  ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพลังของธรรมชาติ ( ที่เรียกว่า สมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ )  พลังธรรมชาติเปลี่ยนแปลงก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพลังธรรมชาติของร่างกายเราเหมือนกัน  มนุษย์จึงต้องมีการปรับสภาวะสภาพหรือที่เรียกว่า ปรับธาตุ อยู่บ่อย ๆ  การปรับธาตุที่สำคัญและง่ายที่สุดก็คือการปรับเรื่อง อาหาร  หรือที่เรียกว่า การกินอาหารปรับธาตุนั้นเอง
 ดังนั้นการกินอาหารควรมีความเข้าใจพื้นฐานในเรื่อง พลังธรรมชาติในขณะนั้นว่ามีลักษณะอย่างไร  หลักง่าย ๆ ในการพิจารณา คือ ดูว่าพลังธรรมชาตินั้น กำเริบ หรือลดลงหรือหย่อนลงอย่างไร  เช่น 

ในฤดูร้อน พลังปิตตะจะมาก  มากขึ้น ๆ จนเมื่อถึงระดับหนึ่ง จะเกิดการปรับตัวลดลงเพราะมีความเย็นเข้ามาแทนที่ ก็คือ การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูฝนนั้นเอง พลังวาตะจะมากขึ้น  เมื่อเข้าฤดูฝน ความร้อนจะค่อย ๆ ลดลง ลดลงเรื่อย ๆ  ความเย็นก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ จนถึงระดับหนึ่งจะคงที่คือในช่วงในช่วงปลายฤดูฝน ก็จะมีความชื้นก่อตัวขึ้นคือการเข้าสู่ฤดูหนาวนั้นเอง พลังเสมหะจะเพิ่มขึ้น  ความชื้นหรือความเย็นชื้น จะก่อตัวเพิ่มขึ้น ๆ เรื่อย ๆ  จนถึงระดับหนึ่ง ก็จะเกิดการปรับตัว โดยจะเริ่มมีความร้อนเข้ามาแทนที่ ซึ่งจะเกิดในช่วงปลายฤดูหนาว ก็จะเข้าสู่ฤดูร้อนนั้นเอง ทุกอย่างดำเนินไปเป็นวัฏจักรของฤดูกาล นั้นเอง
ในฤดูร้อน อากาศร้อน ปิตตะกำเริบ  ควรกินอาหารที่มีรสออกขม เย็น เช่น มะระ ขี้เหล็ก สะเดา ตำลึง ผักกาด  ข้าวแช่ น้ำใบเตย น้ำอัญชัน  ควรหลีกเลี่ยง กะทิ ของหมักดอง อาหารรสเผ็ดร้อน พวกน้ำพริก   เป็นต้น 

ในฤดูฝน อากาศเย็น วาตะกำเริบ  ควรกินอาหารที่มีรสร้อน เช่น กะเพรา ยี่หร่า ข่า กระชาย ผักชีล้อม ผักชีลาว แกงส้มดอกแค แกงส้มผักกะเฉด เป็นต้น

ในฤดูหนาว อากาศเย็นชื้น  เสมหะกำเริบ  ควรกินอาหารรสออกอุ่น ๆ สุขุม ๆ ช่วยขับชื้น เช่น ขิง มันต้มใส่ขิง  ถั่วเขียวใส่ขิง กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ ร้อน ๆ  กระเทียม  เป็นต้น
อาหารสำคัญมาก และมักเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นโรคภูมิแพ้ เบาหวาน ความดันสูง สมองเสื่อม ฯลฯ  ดังนั้น มนุษย์หากต้องการมีสุขภาพที่ดีจะต้องเข้าใจ กฎเกณฑ์พลังของธรรมชาติ เข้าใจสภาวะสภาพร่างกายของตนเอง  เข้าใจพลังธรรมชาติของอาหาร แล้วจึงนำมาปรับใช้ในเรื่องของการกินการอยู่

ที่สำคัญต้องเข้าใจว่า มนุษย์แต่ละคนมีสภาวะสภาพไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีดูแลสุขภาพจึงไม่เหมือนกัน และให้เข้าใจอยู่เสมอว่า วิธีการหนึ่ง เหมาะสำหรับคน ๆ หนึ่ง เท่านั้น ไม่ใช่ใช้ได้สำหรับทุก ๆ คน  เพราะในโลกนี้ไม่มี  "  วิธีเดียวสำหรับทุกคน  "

สุดท้ายขอให้หลักในการพิจารณาการกินอาหารไว้ดังนี้

1. กินอาหารให้หลากหลาย แต่ให้พิจารณาถึงความพอดีในการกิน ไม่มากไปหรือน้อยไป

2. รสของอาหาร กินให้หลากหลายครบทุกรส โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคำนวณตัวเลขคุณค่าทางโภชนาการ

3. อาหารต้องสดใหม่ สะอาดเสมอ ไม่กินของเน่าบูดหรืออาหารเหลือค้างคืน ถึงแม้อาหารยังดูดีอยู่ ก็ไม่ควรนำมาบริโภค ควรฝึกปรุงอาหารรับประทานให้พอดีในแต่ละมื้อหรือแต่ละวัน

4. หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารผัด ควรกินอาหารประเภทต้มตุ๋น แกง ยำ ต้มยำ ปิ้งย่างแต่อย่าให้ไหม้เกรียม

5. กินอาหารให้ตรงเวลา มื้อเช้าไม่ควรเกิน 08.30 น. มื้อเที่ยงไม่ควรเกิน 13.00 น. มื้อเย็นไม่ควรเกิน 18.00 น.

6. หลีกเลี่ยงอาหารอุตสาหกรรมทุกชนิด เช่น อาหารใส่ถุงสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารประเภทฟาสท์ฟูดส์ทุกชนิด อาหารที่ควรรับประทานควรเป็นอาหารที่มาจากการปรุง ไม่ใช่จากการผลิต

7. กินอาหารให้สอดคล้องกับสภาวะสภาพของตนเอง โดยพิจารณาจากอายุ อาชีพการงาน  การเจ็บป่วยของตัวเองในปัจจุบัน เช่น คนที่เป็นไข้พิษไข้กาฬหรือไข้ที่ตัวร้อนสูง ก็ไม่สมควรกินอาหารรสเผ็ดร้อนหรือหากสงสัยให้สอบถามแพทย์แผนไทยได้ทุกคนและที่สำคัญ อย่าเน้นการกินอาหารเพื่อตอบสนองความอยากของตนเอง

8. กินอาหารที่เพาะปลูกหรือมีอยู่ในท้องถิ่น ภูมิภาคของตนเอง

9. ควรกินอาหารที่ย่อยง่ายหรือให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียดหรือเคี้ยวให้มาก ๆ หน่อยแล้วค่อยกลืน

10. กินอาหารให้พออิ่ม อย่ากินจนเกินอิ่ม

11. ข้อนี้สำคัญมากพอ ๆ กับการกิน คือ ต้องหมั่นดูแลเรื่องการขับถ่ายให้เป็นปกติอยู่เสมอ คือขับถ่ายให้ได้อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง ในตอนเช้า อย่าปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง หรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ถ้ามีปัญหาเรื่องการขับถ่ายควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที

ขอบคุณ ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น