โรคซึมเศร้า


โดย  ยส  พฤกษเวช


“  โรคซึมเศร้า  ในทัศนะแพทย์แผนไทย  ”

         อาการที่แสดงออกของโรคซึมเศร้า ในทัศนะแพทย์แผนไทย เกิดจากพิษของอารมณ์  กระทำโทษพิษของอารมณ์ต่าง ๆ  เช่น  เศร้าโศก เสียใจ ผิดหวังอย่างรุนแรง   ความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียด โกรธ ตกใจ  อาฆาต พยาบาท   เป็นต้น

         อารมณ์ในทางแพทย์แผนไทย คือ  “  สุมนาวาตะ  ”  สุมนาวาตะ เป็นสมุฏฐานพิเศษ ของสมุฏฐานหลัก คือ “  วาตะ  (  หทัยวาตะ  สัตถะกะวาตะ   สุมนาวาตะ  )  ”


       พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย ได้กล่าวถึงสุมนาวาตะ ไว้ว่า

“  ด้วยเหตุว่า สุมนานี้ทั่วไปในสมุฏฐาน ทั้ง ๓ คือ  หทัยวาตะ  สัตถะกะวาตะ  สุมนา   แลอาจให้กระวนกระวายก็เพราะ สุมนา  มิให้กระวนกระวายก็เพราะสุมนา  ถ้าจะแก้อย่าให้เสียสุมนาสมุฏฐานเป็นอาทิ  ”

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า
“  ด้วยว่า สุมนานี้ เป็นหลักแห่งสมุฏฐาน  ซึ่งจะวิบัติแลมิให้วิบัตินั้น  ก็อาไศรษ สมุฏฐานนี้ เปน ที่บำรุง  อาจให้วัฒนะ  แลหายนะ ได้โดยแท้  ”
( แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์  หน้า  ๔๒๘  -  ๔๒๙  )

พิษของอารมณ์ ทำให้เกิด  การติดขัด  ของพลัง   “ วาตะ ”   ในอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนการไหลเวียนของ ของเหลว (ธาตุน้ำ )  ในอวัยวะต่าง ๆ

อวัยวะที่มีผลโดยตรง คือ  ตับ ไต หัวใจ ปอด สมอง  กระเพาะอาหารและลำไส้

เมื่อพลังของวาตะติดขัด  ทำให้ไม่สามารถ ขับเคลื่อน พลังปิตตะ เสมหะ ให้กระจายไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วถึง  ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ อ่อนแอลง 


หากพลังของวาตะติดขัดในอวัยวะต่าง ๆ ดังกล่าว ก็จะส่งผลต่ออารมณ์ได้เช่นกัน   และจะส่งผลกระทบกลับไปกลับมาตลอด  นานวันเข้าจะเกิดผลร้ายที่ฝังลึก   แสดงอาการที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ออกมา  ทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์  มีผลทำให้ สมองเสื่อม  การทำงานของหัวใจ ตับ ไต ปอด เสื่อม  สุดท้ายคนไข้จะเกิดอาการท้อแท้ สิ้นหวัง สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง

โรคซึมเศร้า มักเกิดในผู้ที่มีจิต อารมณ์อ่อนไหว จิตไม่เข้มแข็ง  จึงถูกพิษของอารมณ์กระทำโทษได้ง่าย  หรือเกิดกับผู้ที่มีภาวะ ความจริงกับสิ่งที่คาดหวังไม่ตรงกัน   ความจริงทำลายความคาดหวังอย่างรุนแรงและทำใจยอมรับไม่ได้  จึงเกิดพิษของอารมณ์กระทำโทษทำร้ายตัวเอง

อาการที่แสดงออก

 ที่สำคัญคือ  ผู้ป่วยรู้สึกซึมเศร้าหดหู่  สะเทือนใจและร้องไห้ง่าย  บางครั้งอาจบอกว่ารู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งต่าง ๆ ไปหมด และจิตใจไม่รู้สึกสดชื่นเหมือนเดิม  ความรู้สึกเหล่านี้จะเป็นอยู่เกือบทั้งวัน และติดต่อกันแทบทุกวัน  เป็นเวลานานกว่า ๒ สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ป่วยมักมีอารมณ์หงุดหงิด  ทนเสียงดังหรือคนรบกวนไม่ได้  อยากอยู่เงียบ ๆ คนเดียว

ผู้ป่วยมักมีอาการนอนไม่หลับ  หรือนอนมากกว่าปกติ  อาการนอนไม่หลับมักจะเป็นแบบสะดุด    กล่าวคือ  ผู้ป่วยจะนอนหลับในช่วงแรกที่เข้านอน  แต่พอตื่นตอนกลางดึกจะนอนไม่หลับ  บางรายก็อาจมีอาการนอนหลับยากตั้งแต่แรกเข้านอน  มักมีอาการเบื่ออาหาร  น้ำหนักลด  แต่บางรายอาจมีความรู้สึกอยากอาหารและน้ำหนักขึ้น

นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอ่อนเพลียตลอดทั้งวัน  ทำอะไรเชื่องช้า  เฉื่อยชาลง  อยากอยู่เฉย ๆ นาน ๆ  (แต่บางรายอาจมีอาการกระสับกระส่าย  อยู่ไม่สุข  นั่งได้พักหนึ่งก็ต้องลุกขึ้นเดินไปมา)  คิดนาน  ขาดสมาธิ  เหม่อลอย หลงลืมง่าย  มีความลังเลในการตัดสินใจ  ไม่มั่นใจในตัวเอง  มองโลกในแง่ลบ  รู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่าหรือรู้สึกผิด   กล่าวโทษหรือตำหนิตนเอง

กว่าร้อยละ  ๖๐  ของผู้ป่วยมีความคิดอยากตาย  โดยช่วงแรกรู้สึกเบื่อชีวิต  เมื่ออาการมากขึ้นจะรู้สึกอยากตาย  คิดถึงการฆ่าตัวตาย  ต่อมาถึงขั้นวางแผนและวิธีการฆ่าตัวตาย  และในที่สุดลงมือกระทำการฆ่าตัวตาย  (พบได้ประมาณร้อยละ  ๑๕  ของผู้ป่วย )

ผู้ป่วยบางรายอาจไปปรึกษาแพทย์ด้วยอาการเจ็บป่วยทางกาย  เช่น  อ่อนเพลีย  เหนื่อยง่าย  ผอมลง  เวียนศีรษะ  ปวดตามส่วนต่าง ๆ  ( เช่น  ศีรษะ  หน้าอก  หลัง  แขน  ขา )  อย่างเรื้อรัง  ประจำเดือนไม่มา  ไม่มีความรู้สึกทางเพศ  เป็นต้น
( ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป    นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ  ) 

แนวทางการรักษา

การใช้ยา

๑. ใช้ยาหอมไทยเพื่อกระตุ้นการทำงาน และบำรุงหัวใจ และประสาทสมอง

๒. ใช้ยาระบายขับถ่ายของเสีย ที่คั่งค้าง ติดขัด อยู่ภายใน

๓. ใช้ยาแก้ลมกระตุ้นการทำงานของระบบการไหลเวียนของเลือดลม

๔. ใช้ยาบำรุงร่างกาย  บำรุงธาตุ  บำรุงโลหิต


คำแนะนำ

๑. ต้องมีญาติ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

๒. หมั่นออกกำลังกาย กายบริหาร  ด้วยการเดิน ถูกแสงแดดอ่อน ๆ ทุกวัน เช้าครั้ง เย็นหน

๓. กินอาหารที่ย่อยง่าย ใหม่สด มีคุณค่าทางโภชนาการ  ไม่กินอาหารอุตสาหกรรมเด็ดขาด

๔. กินพออิ่มไม่เกินอิ่ม  ห้ามกินหลัง ๖ โมงเย็น

๕. หากิจกรรมให้ทำ  เช่น  เล่นกีฬา  เล่นดนตรี  ทำงานศิลปะ  ตามแต่
    ผู้ป่วยสนใจ


๖. อย่าให้นอนดึก  แต่ให้ตื่นแต่เช้า ๆ ออกไปเดินถูกแสงแดดอ่อน ๆ ทุกวัน


ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น