ไมเกรน

โดย  ยส  พฤกษเวช

ไมเกรน (Migraine)

                ไมเกรน (โรคปวดหัวข้างเดียว  ลมตะกัง  ก็เรียก)  พบได้ประมาณร้อยละ 10 - 15  ของประชากรทั่วไป  พบได้ในคนทุกวัย  แต่พบมากในช่วงอายุ  10 - 30 ปี  พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ  3.5  เท่า   โรคนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังเป็นแรมปี  เริ่มเป็นครั้งแรกตอนย่างเข้าวัยรุ่น หรือระยะ
หนุ่มสาว  โดยเฉพาะผู้ป่วยหญิงมักเป็นโรคนี้ตอนเริ่มมีประจำเดือน  บางรายเริ่มเป็นโรคนี้ตั้งแต่เด็ก   ซึ่งมักมีอาการปวดท้อง  เมารถ  เมาเรือด้วย   มีน้อยรายที่จะมีอาการเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ  40  ปีขึ้นไป   แต่ผู้หญิงที่เคยเป็นไมเกรนมาก่อน  เมื่อถึงวัยใกล้หมดประจำเดือน  (40 - 50 ปี)  อาจมีอาการปวดศีรษะบ่อยขึ้น   บางรายอาจทุเลาหรือหายไปเองเมื่ออายุมากกว่า  50 - 60 ปีขึ้นไป   แต่บางรายอาจเป็นตลอดชีวิต

                ไมเกรนจัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง  แต่สร้างความรำคาญน่าทรมาน  และทำให้เสียการเสียงาน    โรคนี้เกิดได้กับคนทุกระดับ  ไม่เกี่ยวกับฐานะทางสังคมหรือระดับสติปัญญา  แต่ผู้ที่มีฐานะดีหรือมีการศึกษาดีมักจะปรึกษาแพทย์บ่อยกว่า   ผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่ประจำ  มักเป็นคนประเภทเจ้าระเบียบ  จู้จี้จุกจิก   โรคนี้ชาวบ้านเรียกว่า  ลมตะกัง



สาเหตุ
  
                  โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์  (พบว่า  ประมาณ  2 ใน 3  ของ ผู้ป่วยไมเกรน   มีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย)   และมักมีสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบในแต่ละครั้ง

                  ส่วนกลไกการเกิดอาการของโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด  สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมอง ทั้งในส่วนเปลือกสมอง  (cortex) และก้านสมอง (brain  stem) ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง  ได้แก่  ซีโรโทนิน  (serotonin)  ( พบว่ามีปริมาณลดลงขณะที่มีอาการกำเริบ )   โดพามีน  (dopamine)   และสารเคมีกลุ่มอื่นๆ  ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นใยประสาทสมองเส้นที่  5  (trigeminal nerve fiber  ที่เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ)   รวมทั้งการอักเสบร่วมกับการหดและขยายตัวของหลอดเลือดแดงทั้งในและนอกกะโหลกศีรษะ   ทำให้เปลือกสมอง  (cortex)  มีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง  กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะและอาการร่วมต่าง ๆ ขึ้นมา

อาการ

               มักมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว   ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดแบบตุบๆ (เข้ากับจังหวะการเต้นของหัวใจ) ที่บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่ง  อาจปวดสลับข้างในแต่ละครั้ง  ส่วนน้อยจะปวดพร้อมกันทั้ง  2  ข้าง บางรายอาจมีอาการปวดที่รอบ ๆ  กระบอกตาร่วมด้วย   แต่ละครั้งมักจะปวดนาน  4 – 72  ชั่วโมง  และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย  หรือสัมผัสถูกแสง  เสียงหรือกลิ่น   มักปวดรุนแรงปานกลางถึงมากจนเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน   ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้  ร่วมด้วย  บางรายอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย   ( หลังอาเจียน  อาการปวดจะค่อย ๆ ทุเลาไปเอง )   ผู้ป่วยมักมีอาการกลัว  ( ไม่ชอบ ) แสงหรือสีเสียงร่วมด้วย  ชอบอยู่ในห้องที่มืดและเงียบ   นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย  เช่น   ตาพร่ามัว  คัดจมูก  ท้องเดิน  ปัสสาวะออกมาก  ซีด  เหงื่อออก  บวมที่หนังศีรษะหรือใบหน้า  เจ็บหนังศีรษะ  มีเส้นพองที่ขมับ  ขาดสมาธิ  อารมณ์แปรปรวน  รู้สึกศีรษะโหวง ๆ  รู้สึกจะเป็นลม แขนขาเย็น  เป็นต้น

สิ่งที่ตรวจพบ

               มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน    ขณะที่มีอาการปวด  อาจคลำได้หลอดเลือดที่บริเวณขมับโป่งพอง  และเต้นตุบ ๆ  หรือพบอาการเจ็บเสียวที่หนังศีรษะเวลาสัมผัสถูก     น้อยรายมากที่ที่อาจพบอาการแสดงของสัญญาณบอกเหตุ  เช่น  พูดไม่ได้  แขนขาอ่อนแรง  หมดสติ

ภาวะแทรกซ้อน

               ส่วนใหญ่จะเป็น ๆ หาย ๆ  เป็นช่วง ๆ  โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง  นอกจากอาจทำให้มีความวิตกกังวลหรือซึมเศร้า   บางรายอาจมีอาการปวดไมเกรนต่อเนื่อง  (status  migrainosus)    คือ  ปวดติดต่อกันนานเกิน  72  ชั่วโมง  หรืออาจเป็นไมเกรนเรื้อรัง  (chronic  migraine)   คือ  ปวดมากกว่า  15  วัน/เดือน                                                                             
                                                                              
              
           โรคไมเกรนเรื้อรัง 

           มักจะสัมพันธ์กับโรควิตกกังวล   โรคแพนิค (โรคตื่นตระหนกตกใจ)  โรคอารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้า   มีภาวะเครียด   หรือมีการใช้ยาแก้ปวดไมเกรนมากเกินไป  (มากกว่า  2 – 3 ครั้ง/สัปดาห์)   มีน้อยรายมากที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองจากภาวะขาดเลือดแทรกซ้อน   ซึ่งมักพบในผู้หญิงที่เป็นไมเกรนชนิดมีสัญญาณบอกเหตุ (aura) ที่มีประวัติสูบบุหรี่และ / หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิด นอกจากนี้  ผู้ป่วยไมเกรนยังอาจมีภาวะอื่น ๆ ร่วมด้วยมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นไมเกรน  เช่น  โรคลมชัก  ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติจากกรรมพันธุ์   โรควิตกกังวล  โรคซึมเศร้า  โรคลำไส้แปรปรวน  ความดันโลหิตสูง  โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (hereditary  essential  tremor)  เป็นต้น

ที่มา :   ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป  2  นายแพทย์สุรเกียรติ   อาชานานุภาพ


อาการปวดศีรษะเรื้อรังแบบไมเกรนในทัศนะการแพทย์แผนไทย

                อาการปวดที่เกิดขึ้นในร่างกายของเรา  ไม่ว่าที่ใดก็ตาม  แสดงว่ามีภาวะอุดตันหรือติดขัด  ( ปิตตะ  เสมหะ  วาตะ )  เกิดขึ้น  การติดขัดอาจเกิดบริเวณที่ปวด หรือบริเวณอื่นก็ได้  สำหรับอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนในคัมภีร์นวดแผนไทย  เรียกว่า  เกิดลมตะกังหรือลมปะกัง  อธิบายโดยย่อดังนี้

                เป็นการติดขัดของเส้นอิทา  เส้นปิงคลา  ซึ่งเป็น 2 ใน 10  ของเส้นประธาน  ตามคัมภีร์นวดแผนไทย  โดยจุดเริ่มต้นของเส้นอิทาปิงคลา  อยู่ห่างจากสะดือ  ข้างซ้ายและขวา ประมาณ ๑ นิ้วมือ  ( อิทาซ้าย  ปิงคลาขวา )   แล่นลงไปบริเวณหัวเหน่า   ผ่านต้นขาด้านในไปยังเหนือหัวเข่า  แล้ววกกลับขึ้นมาที่ต้นขาด้านนอก  แล่นขึ้นแนบกระดูกสันหลังถึงต้นคอ ขึ้นไปบนศีรษะ  แล้ววกกลับผ่านหน้าผากมาจรดที่ริมจมูก

                เส้นอิทา  ปิงคลามีความสัมพันธ์กับระบบไหลเวียนเลือด  ระบบประสาทสมอง  ดังนั้นหากมีการติดขัดหรืออุดตันตามแนววิถีผ่าน  ( การอุดตันของลิ่มเลือด ;  หรือไขมัน )  โดยเฉพาะบริเวณต้นคอหรือภายในศีรษะ  ก็จะทำให้มีอาการปวดขึ้นได้

                สาเหตุที่ทำให้เส้นอิทาปิงคลา ติดขัดหรือตีบตัน  มีหลายสาเหตุ  เช่น  กินอาหารจำเจ  ( โดยเฉพาะหวาน  ไขมัน  โปรตีนสูง )  ไม่หลากหลาย  อารมณ์ตึงเครียด  ใช้ความคิดมาก  พักผ่อนน้อย  ตับร้อน   เนื่องจากมีการติดขัดภายในตับ  ภาวะเลือดหนืด หรือติดขัดตามแนววิถีผ่าน  อิริยาบถไม่ถูกต้อง  ( นั่ง นิ่ง เนิ่นนาน )   เช่น  ใช้คอมพิวเตอร์นานเป็นประจำ  อ่านหนังสือ  ใช้สายตามาก  อาการปวดศีรษะเรื้อรังแบบไมเกรน   ควรรีบรักษาให้หายเพราะอาจลุกลามถึงขั้นอัมพฤกษ์  อัมพาตได้     

               เมื่อสมุฏฐานทั้งสาม  ( ปิตตะ  เสมหะ วาตะ )  ติดขัด  จึงส่งผลกระทบต่อธาตุทั้ง  4   ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  กำเริบ  หย่อน  พิการ  ตามมาดังนี้

ธาตุดิน :  อวัยวะที่ถูกกระทบ   ตับ  ไต  มดลูก (เส้นสิกขิณี)  ต่อมลูกหมาก หรืออวัยวะสืบพันธุ์ชาย  (คิชฌะ)   หลอดเลือด   สมอง

ธาตุน้ำ : น้ำเลือด   เสมหัง  (น้ำเศลษ)

ธาตุลม : ลมจันทกลา (อิทา)   ลมสุริยกลา  (ปิงคลา)    ลมพหิ  (มดลูก)  ลมสัตถกะวาต  (อิทา)   ลมรัตนาวาต  (ปิงคลา)

ธาตุไฟ : ปริทัยหัคคี  (ไฟสำหรับทำให้ร้อนระส่ำระสาย)

แนวทางการรักษา  ให้พิจารณามหาภูตรูป  4

ธาตุไฟ
- พัทธะปิตตะ    : น่าจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ
- อพัทธะปิตตะ : กระทบร้อน  กระทบเย็น  อากาศอบอ้าว  แสงสว่างจ้า เสียง   ที่แออัดชุมชน  กลิ่นฉุน  กลิ่นน้ำหอม  ยาคุมกำเนิด
- กำเดา            : ร้อนภายใน  (ตับ)   ปวดหัว 

ธาตุน้ำ
 - ศอเสมหะ    : ไขมัน  ลิ่มเลือดบริเวณต้นคอ  ลิ่มเลือดในสมองอุดตัน  ลิ่มเลือดที่หัวใจ 
- อุระเสมหะ   : ไขมันที่ตับพอกพูน  ลมเดินไม่สะดวก เกิดภาวะลมตีกลับ หรือลมตีขึ้นเบื้องบน
 - คูถเสมหะ    : ทวารหนัก  ทวารเบา  มดลูก  อาจมีภาวะติดขัดของลิ่มเลือด  ไขมันพอกพูน  ลมเดินไม่สะดวก  ลมตีกลับ  หรือลมตีขึ้นเบื้องบน

 ธาตุลม 
 - หทัยวาตะ     : มีการติดขัดไม่สะดวก  เกิดความร้อน แต่ยังไม่รุนแรง
 - สัตถกะวาตะ : การไหลเวียนตามแนววิถีผ่านของเส้นอิทา  ปิงคลาติดขัด
 - สุมนาวาตะ   : อารมณ์เครียด  วิตกกังวล

ธาตุดิน
- หทัยวัตถุ      : ก้อนเนื้อหัวใจทำงานหนักขึ้น
- อุทริยัง         : อาหารหวาน  ไขมัน  อาหารซ้ำซากจำเจ
- กรีสัง            : ของเสียรอการขับถ่าย ตกค้าง  ลมเดินไม่สะดวก ตีกลับ หรือลมตีขึ้นเบื้องบน

พิจารณามูลเหตุของโรค 

- อาหาร                 
: อาหารหวาน  ไขมัน  โปรตีนสูง  อาหารซ้ำซากจำเจ  ไม่หลากหลาย
เหล้า  กาแฟ   ยาคุมกำเนิด  ฯลฯ

- อารมณ์               
: ความเครียด  ความวิตกกังวล

- อากาศ               
: กระทบร้อน  กระทบเย็น  ที่แออัดยัดเยียด  แสงสว่างจ้า  ที่อบอ้าว

- ออกกำลังกาย     
: มักขาดการออกกำลังกาย

- อิริยาบถ             
: มักจะนั่ง นิ่ง เนิ่นนาน  ซ้ำซากจำเจเป็นประจำ เช่น นั่งใช้คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

- อุจจาระ ปัสสาวะ   
: มักกลั้นอุจจาระ  ปัสสาวะเป็นประจำ   เกิดการตกค้างของของเสียที่จะต้องขับออก

- อดนอน             
: พักผ่อนไม่เพียงพอ

- รอบเดือน             
: ในสตรีมักจะมีปัญหารอบเดือนร่วมด้วยเสมอ

ตำรับยาที่ใช้รักษา             

          ยากษัยเส้น ยาแก้ปวดศีรษะ ยาบำรุงหัวใจ  ยาบำรุงสมอง  ยาระบาย  ยาล้างพิษตับและไต  ยาบำรุงโลหิต  ยาฟื้นฟูระบบทางเดินอาหาร

ข้อห้าม

          ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้น, ยาที่มีฤทธิ์ร้อน

คำแนะนำ

- อาหาร
                
: งดอาหารหวาน  ไขมัน  โปรตีน  ควรกินอาหารประเภทธัญพืช  ข้าวกล้อง  ผักสีเขียว  กินให้หลากหลาย  รสอาหารไม่จัด  ไม่เผ็ดร้อน  งดเหล้า  กาแฟ  ยาคุมกำเนิด  (ถ้ามีผลกระทบ)

- อารมณ์               
: ควบคุมอารมณ์   ไม่เครียด  วิตกกังวล

- อากาศ                 
: หลีกเลี่ยงกระทบร้อน  กระทบเย็น  หรือสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบ  เช่น  ที่แออัด  แสงสว่างจ้า   ที่อบอ้าว

- ออกกำลังกาย       
: ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  เช้าครั้งเย็นหน  อย่างน้อยครั้งละ  1  ชั่วโมงเข้าชมรมสันทนาการ

- อิริยาบถ               
: ยืน  เดิน  นั่ง นอน  ให้เสมอกัน  หลีกเลี่ยงภาวะนิ่ง เนิ่น นาน

- อุจจาระ  ปัสสาวะ   
: ห้ามกลั้นอุจจาระ  ปัสสาวะ  อุจจาระให้ได้วันละ  2  ครั้ง 

- อดนอน               
: พักผ่อนให้เพียงพอ

- รอบเดือน             
: ในสตรี  ดูแลรอบเดือนให้มาปกติ

- นวด                   
: อาทิตย์ละ  2 ครั้ง



ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น