มะเร็ง

                           โดย  ยส  พฤกษเวช              

          ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยมีการกล่าวถึง คำว่า “มะเร็ง”  ไว้หลายแห่ง  แต่ไม่พบคำจำกัดความหรือความหมายที่แน่ชัด  และยังไม่มีผู้ใดให้ความหมายไว้ 

          แต่เมื่อได้ศึกษาพบว่า คำว่า “มะเร็ง”  เป็นการเรียกโรคร้ายที่เรื้อรังรักษายาก  เช่น  การเรียกโรคที่อยู่ในกลุ่มฝี ก็เรียก “ฝีมะเร็ง ฝีกาฬ”  หรือไม่เป็นฝี ก็เป็นลักษณะแผลเนื้อร้าย เป็นก้อน มีการติดเชื้ออักเสบ เป็นแผลเนื้อร้าย เน่าเปื่อย ลุกลาม รักษายาก

          
          มะเร็งเป็นโรคที่ระยะแรกจะไม่แสดงออก  โดยจะฝังตัวอยู่จนกว่าจะมากเกินกว่าที่ร่างกายจะคุมอยู่ หรือเกิดจากเป็นโรคร้ายอยู่และเรื้อรังรักษาไม่หายขาด  หรือรักษาไม่ถูกวิธี  ปล่อยไว้เรื้อรังเรื่อยมา

          ในคัมภีร์แพทย์แผนไทย ได้กล่าวถึงลักษณะของโรคมะเร็งไว้หลายคัมภีร์ด้วยกัน เช่น

พระคัมภีร์ประถมจินดา  กล่าวถึงโรคซางในวัยเด็ก รักษาไม่หายขาด ขับพิษไม่หมดไม่สิ้น โรคร้ายยังคงฝังตัวอยู่ภายในเรื่อยมา  ครั้นเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เมื่อภูมิต้านทานต่ำจึงกำเริบแสดงออกมาเป็นโรคริดสีดวง  ซึ่งจะลุกลามเป็นโรคมะเร็งต่อมานั่นเอง


พระคัมภีร์กษัย  ซึ่งกล่าวถึงโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายและปล่อยเรื้อรัง  ไม่รักษาขับพิษออกจากร่างกาย  นานเข้าจึงแสดงอาการของโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา จนยากแก่การรักษา  ซึ่งก็คือโรคมะเร็งนั่นเอง

พระคัมภีร์ธาตุบรรจบ  เป็นคัมภีร์ที่แสดงให้รู้ถึง การเกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่าย  เป็นเพราะสะสมพิษไว้ภายในเรื้อรังเรื่อยมา  จนเป็นโรคที่เรียกว่า โรคอุจจาระธาตุ ลักษณะที่แสดงออกใกล้เคียงกับโรคมะเร็งลำไส้ระยะต้น ๆ

พระคัมภีร์อติสาร  เป็นคัมภีร์ที่ต่อเนื่องมาจากคัมภีร์กษัยและคัมภีร์ธาตุบรรจบ  เป็นลักษณะอาการโรคมะเร็งในลำไส้ มะเร็งตับ มะเร็งในถุงน้ำดี มะเร็งที่ขั้วหัวใจ มีอาการที่ร้ายแรง คือถ่ายมีโลหิตปะปนออกมาด้วย  เป็นลักษณะของมะเร็งระยะสุดท้าย  ยากแก่การรักษาหรือรักษาไม่ได้ เรียกว่าเป็นอาการตัด

พระคัมภีร์มหาโชตรัตน์  เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงโรคของสตรีในวัยเจริญพันธุ์  ที่มีปัญหามาจากรอบเดือนที่ไม่ปกติ  ระดูร้าง  การกระทบชอกช้ำในช่องคลอดหรือมดลูกและมีการติดเชื้อ  จึงเกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา ซึ่งเป็นลักษณะของการเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงนั่นเอง

พระคัมภีร์ตักศิลา  เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึง ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ไข้กำเดา รวม ๆ เรียกว่า ไข้ตักศิลา  ซึ่งเป็นสภาวะที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย  เข้าสู่กระแสโลหิตและลุกลามเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง  ทำให้มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เป็นโรคภูมิแพ้ได้  และหากรักษาไม่หายขาดหรือไม่ทำการกระทุ้งพิษออกให้หมดให้สิ้น  เชื้อจะไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ  เช่น  ตับ  ปอด  หัวใจ  สมอง  ลำไส้  ไต ม้าม  ต่อมน้ำเหลือง  นานวันเข้าส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลง  และเมื่อร่างกายได้รับเชื้อเพิ่มหรือมีเหตุปัจจัยอื่นมากระทบ  ทำให้มีการอักเสบก็จะแสดงอาการของโรคร้ายหรือมะเร็งออกมา ซึ่งก็จะยากต่อการรักษา

พระคัมภีร์มุจฉาปักขันธิกา

เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงโรคที่เกี่ยวข้องในระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ของบุรุษและสตรี  ซึ่งแสดงถึงสภาวะผิดปกติ เกิดการติดขัดของสมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ อย่างชัดเจน  ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการเกิดโรคมะเร็ง  เช่น  มะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

พระคัมภีร์อุทรโรค  เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงโรคในส่วนช่องท้อง  ซึ่งทำให้ท้องพองใหญ่ เกิดจากธาตุวิปริตในกองสมุฏฐาน ซึ่งสมมุติเรียกว่า มาน  ซึ่งก็คือลักษณะของมะเร็งนั้นเอง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งในลำไส้ มะเร็งมดลูก เป็นต้น 

ในบทความนี้ขอให้คำนิยามของคำว่ามะเร็งไว้ดังนี้

          มะเร็ง คือ  สภาวะของการติดขัดของสมุฏฐาน ปิตตะ วาตะ เสมหะ และส่งผลกระทบต่อธาตุทั้ง ๔ ถูกทำลายจนสูญเสียภาวะปกติ  เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเกิดการคั่งค้างของพิษหรือของเสีย  ซึ่งร่างกายขับออกไม่หมด มีการก่อตัวขึ้นเป็นก้อน ( กล่อน ) และลุกลามเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งในระยะต่อมา

สาเหตุการก่อตัวของมะเร็งพิจารณาตามแนวทางทฤษฏีการแพทย์แผนไทยดังนี้

๑ . พิษของปิตตะ (พิจารณาในกรณีของพัทธะปิตตะ และอพัทธะปิตตะ )

          ปิตตะทั้ง ๒ กรณีนี้ให้พิษร้อน  มีผลให้เกิดความแห้ง หด กระชับ ฝืด ทำลายเสมหะ หรือสารเหลวภายในร่างกาย  ทำให้ร่างกายเกิดสภาพเสมหะพร่องหรือเสมหะหย่อน  ให้กำเนิดความร้อน ความอบอุ่น การย่อยอาหาร  การทำให้เกิดสารอาหาร  ทำให้เกิดอาหารบำรุงร่างกาย  ทำให้เกิดของเสียภายในร่างกาย  และเกี่ยวข้องกับอารมณ์ โลภ โกรธ หลง เป็นต้น

          
พัทธปิตตะ  เป็นปิตตะที่อยู่ภายในร่างกายของเรา ตับ เป็นที่ตั้งสำคัญของปิตตะ ม้าม ก็เป็นส่วนของปิตตะ ต่อมต่าง ๆ ภายในร่างกาย และอารมณ์ต่าง ๆ ก็เป็นที่ตั้งของปิตตะ เป็นต้น

          อพัทธปิตตะ  เป็นปิตตะที่ร่างกายได้รับจากภายนอก  เช่น  อาหาร ( ผ่านทางรสของอาหาร ๖ รส  คือ รสหวาน  รสเปรี้ยว  รสเค็ม  รสขม  รสเผ็ดร้อน  รสฝาด ) อากาศและสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนสิ่งที่มากระทบกับอายตนะ ๖ ( ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ) เป็นต้น

          พิษของปิตตะ ทำให้เสมหะแห้ง มีผลทำให้เกิดพิษของปิตตะกระทำโทษ  เกิดความร้อนเผาผลาญสารเหลวภายในอวัยวะต่าง ๆ   ของเหลวหรือเลือด ไขกระดูก น้ำเหลือง ไขมัน ของเหลวภายในอวัยวะต่าง ๆ  ภาวะเช่นนี้ดำเนินไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข  มีผลทำให้อวัยวะภายในถูกทำลายอย่างช้า ๆ และพิษของปิตตะ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของเซลล์ตามอวัยวะต่าง ๆ  ทำให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติ ลุกลามมากขึ้นก็เกิดเป็นมะเร็งในที่สุด

          อาการที่แสดงออก   ผิวหนังแห้ง  ตาแห้ง  จมูกแห้ง  ลมหายใจร้อน  มีกลิ่นตัวแรง  เวลาพูดมีกลิ่นปาก ตัวร้อนรุม ๆ อยู่เสมอ  ร้อนในบ่อย  ร่างกายซูบผอม  ไม่มีน้ำมีนวล  ฝ่ามือ ฝ่าเท้าร้อน  มักมีไข้ตอนบ่าย ไอแห้ง ๆ  อุจจาระแข็ง  เสลดเหนียว สีเข้ม ๆ เหลือง ๆ  ถ้าเป็นที่หลอดอาหาร จะไอแห้ง ๆ ต่อมาจะไอเป็นเลือด  ถ้าเป็นที่ตับ จะแห้ง แข็ง  ถ้าเป็นที่เต้านมจะเป็นก้อนขรุขระแข็ง ๆ ปวดแสบร้อน  เป็นที่ต่อมน้ำเหลือง จะเป็นก้อนขรุขระแข็ง ๆ ปวดแสบร้อน เป็นต้น

โรคมะเร็งที่เกิดจากพิษของพัทธะปิตตะและอพัทธะปิตตะ ได้แก่  มะเร็งตับ  มะเร็งถุงน้ำดี  มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้  มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น

แนวทางการรักษา  เร่งระบายขับถ่ายของเสียที่คั่งค้างอยู่ภายในออกให้หมดให้สิ้น ให้ยาต้านมะเร็งไว้สม่ำเสมอ  ฟื้นฟูอวัยวะที่เป็นมะเร็ง  ดูแลเรื่องระบบทางเดินอาหาร การย่อยอาหาร การดูดซึมสารอาหารการขับถ่ายของเสีย  อย่าให้มีปัญหา  ดูแลเรื่องการขับปัสสาวะทางไต  การขับของเสียทางเหงื่อ  ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงของแสลง  ต้องหาให้พบว่าแสลงอะไรบ้าง การรักษาก็จะง่ายขึ้น

๒. พิษของปิตตะ พิจารณาในกรณีของกำเดา

          กำเดา คือ เปลว (ความร้อน) แห่งวาโย โลหิต เสมหะ แลสรรพสมุฏฐานทั้งปวง หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือความร้อนที่กระจายไหลเวียนไปตามโลหิตหรือของเหลวต่าง ๆ ที่ไหลเวียนไปทั่วอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายนั้นเอง  กำเดามีพิษทำให้เสมหะเหือดแห้งได้  เมื่อเสมหะแห้งทำให้เกิดการติดขัดของระบบไหลเวียนได้  พิษของกำเดาทำให้เลือดข้น เสมหะข้น  นานเข้าเมื่อมีการติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดเลือดเน่า เสมหะเน่า ก่อตัวเป็นก้อนกล่อน เป็นเนื้อร้าย เซลล์เจริญเติบโตผิดปกติ ก็จะเกิดเป็นมะเร็งในที่สุด
              คนที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งจากพิษของกำเดา  ส่วนใหญ่เป็นประเภทที่มีภาวะเป็นภูมิแพ้ประเภทที่แพ้พิษร้อนอยู่ก่อนแล้ว  โดยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเป็นมะเร็งในบั้นปลาย  โดยขอแบ่งเป็น ๒ กรณี คือ

๒.๑ กรณีเฉียบพลัน  เนื่องจากมีภาวะเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว  แต่ไปได้รับพิษที่ตนแพ้ในปริมาณที่สูง หรือได้รับในภาวะที่ร่างกายอ่อนแอมาก ๆ  โดยพิษที่ได้รับอาจได้รับมาจากภายนอกหรืออาจมาจากภายในตัวของเราเอง   จากภายนอก  เช่น ได้จากอาหารที่มีพิษ สารเคมี กัมมันตรังสี เป็นต้น  จากภายในก็เป็นพิษที่ฝังตัวสงบอยู่เนิ่นนาน  ที่ไม่ได้รับการขับกระทุ้งพิษออกมา เช่น คนที่เคยมีประวัติเป็นโรคร้ายแรงและรักษาไม่หายขาด  เชื้อยังคงฝังอยู่ภายใน  เช่น  เชื้อวัณโรค หรือคนที่มีประวัติเคยเป็นโรค ไข้พิษ ไข้กาฬ เช่น หัด อีสุก อีใส  งูสวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ต้องรักษาให้หาย ขับพิษให้หมดให้สิ้น ไม่ใช่อาการหายแล้วก็หยุดการรักษาขับพิษออกให้หมดให้สิ้น

๒.๒ กรณีเรื้อรัง  เกิดจากการได้รับพิษเหมือนกับกรณีเฉียบพลัน  แต่พิษอาจจะน้อยกว่า หรือภูมิต้านทานดีกว่า  พิษจะค่อย ๆ สะสมและจะค่อย ๆ ทำร้ายร่างกายทีละน้อย ๆ  พิษของกำเดาจะส่งผลให้เสมหะพร่องไปเรื่อย ๆ นานเข้า ๆ ทำให้เสมหะเป็นพิษ  ทำให้เซลล์เจริญเติบโตผิดปกติ จนกลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งในที่สุด  โดยการก่อโรคมะเร็งอาจใช้เวลานาน ๕ – ๑๐ ปี หรือนานกว่าก็ได้ครับ
  
โรคมะเร็งที่เกิดจากพิษกำเดา  ได้แก่  มะเร็งหลอดอาหาร  มะเร็งต่อมไทรอยด์  มะเร็งตับ  มะเร็งปอด
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

อาการของมะเร็งที่เกิดจากพิษกำเดา  ในกรณีเฉียบพลัน การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายไม่มาก แต่จะมีไข้สูง หรือ ไข้ปานกลาง ตัวเหลือง ตาเหลือง เบื่ออาหาร ท้องผูก ท้องเสีย อุจจาระมีกลิ่นเหม็น
ในกรณีเรื้อรัง มีอาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเห็นได้ชัดเจน คือ  ร่างกายซูบผอม ผิวพรรณหมองไม่แจ่มใส ไข้ปานกลางหรือต่ำ ๆ เป็นลักษณะคนอมโรค หรือมักเป็นไข้ตอนบ่าย ๆ  มักท้องผูก
อาการโรคมะเร็งที่เกิดจากพิษกำเดา  มักมีอาการปวดแสบร้อนหรือปวดแปลบ ๆ แถว ๆ ก้อนมะเร็ง ( วาตะแทรก )  มักเป็นเนื้อแห้ง ๆ หดกระชับและมีเลือดออกตามอวัยวะที่เป็น  มักมีไข้สูงลอยร่วมด้วย มักติดเชื้อง่าย มักมีภาวะเลือดน้อยโลหิตจาง

แนวทางการรักษา อันดับแรกต้องระบายถ่ายพิษร้อนออกเสียก่อน  เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติให้เร็วที่สุด  แล้วจึงดำเนินการรักษาตามปกติ ให้ยาต้านมะเร็งไว้สม่ำเสมอ อย่าให้ท้องผูก ระวังอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน  ระวังการติดเชื้อ ปรับปรุงเลือด คุณภาพของเลือด ปริมาณเลือด การไหลเวียนของเลือด

๓. พิษของเสมหะทำให้เกิดโรคมะเร็ง
เสมหะมีสภาวะเย็นหรือเย็นชื้น เป็นสภาวะที่ตรงข้ามกับปิตตะ มีสภาวะขยาย เย็น เหลว ไหล ถ้าข้นจะเหนียวหนืด เป็นก้อน (กล่อน) มีพลังดึงดูดเกาะกุม มักก่อให้เกิดการอุดตัน ติดขัด ของการไหลเวียน (วาตะ)

ในกรณีปกติเสมหะก็จะไหลเวียนไปด้วยอำนาจของวาตะ  แต่จะทำพิษต่อร่างกายเมื่อเกิดภาวะข้นเข้า เหนียวหนืด เมือกมัน เปลวไต ปรเมหะ เป็นลิ่มเป็นก้อน (กล่อน)  จะทำให้เกิดการอุดตัน การไหลเวียนไม่สะดวก หรือติดขัด ปัญหาจึงตามมา

พิษของเสมหะที่ทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย มีที่มาทั้งจากภายนอกและภายในร่างกาย

พิษเสมหะจากภายนอก  มาจากภูมิอากาศ ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป  โดยเฉพาะในฤดูฝน ฤดูหนาว จากสิ่งแวดล้อมที่เย็นชื้น  เช่น  บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง  ห้องปรับอากาศ  จากอาหารที่มีฤทธิ์เย็น อาหารจำพวก ฟาสฟูดส์ หรืออาหารขยะ ไอศกรีม ชาเขียวแช่เย็น  เป็นต้น

พิษเสมหะจากภายใน  เกิดจากภาวะที่เรียกว่า ธาตุพิการ  ซึ่งทำให้การทำงานของอวัยวะภายในทำงานหย่อนประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะที่สำคัญคือ  ระบบทางเดินอาหารเกิดภาวะเสื่อม(กษัย)  อวัยวะอื่นก็ทำงานหย่อนประสิทธิภาพลงเช่นกัน  เช่น  ตับ ไต ม้าม หัวใจ ปอด ระบบประสาท การไหลเวียนโลหิต  ซึ่งเมื่อเกิดภาวะกษัย  ส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารทำหน้าที่ย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหาร การขับถ่ายของเสีย ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ  ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ การย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ การขับถ่ายของเสียไม่ดี  ทำให้เกิดการตกค้างสะสมของเสียอยู่ภายใน  นานเข้าของเสียถูกดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือดและไหลเวียนไปทั่วร่างกาย  ถ้าหากเกิดการจับตัวเป็นก้อน (กล่อน) ก็จะเกิดการอุดกั้น ติดขัดของระบบการไหลเวียน นานเข้าก็จะส่งผลให้เกิดโรคร้ายตามมา

กล่อน  เกิดจากเสมหะจับตัวเป็นก้อน  ทำให้เกิดภาวะเสมหะกลัด  ส่งผลให้เกิดการติดขัด ทำให้เซลล์บริเวณที่เกิดกล่อน  เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพผิดปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

          โรคมะเร็งที่มักเกิดจากพิษของเสมหะ ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก เป็นต้น
อาการของโรคมะเร็งเนื่องจากพิษเสมหะ  มักมีอาการกลัวความเย็น ความหนาวเย็น ปลายมือปลายเท้าเย็น ท้องร่วงบ่อย อุจจาระเหลว  ถ้ามีเนื้อร้ายจะมีอาการปวดรุนแรง  ถ้าเป็นมะเร็งที่มีการอักเสบร่วมด้วยจะมีอาการร้อน ๆ หนาว ๆ  ถ้ายังไม่มีอาการอักเสบจะมีอาการหนักตัว เมื่อยตามตัว แขน ขาหรือมีอาการหนักเมื่อยเฉพาะที่

แนวทางการรักษา ต้องค่อยเป็นค่อยไป  ต้องขับระบายพิษเสมหะ โดยสลายก้อนเสมหะ (เนื้องอก)ให้สลายแล้วกระตุ้นการไหลเวียน  เพื่อเข้าสู่ระบบการขับถ่ายตามปกติ  แต่ถ้าหากมีการอักเสบหรือมีพิษปิตตะร่วมด้วย  การรักษาจะยากขึ้น  เพราะต้องรักษาพิษปิตตะหรือการอักเสบให้เป็นปกติก่อน  แล้วจึงทำการละลายขับพิษเสมหะออก ทั้งนี้ต้องให้ยาต้านมะเร็งไว้เป็นระยะ ๆ

๔. พิษของสุมนาที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
สุมนาวาตะ เป็นสมุฏฐานพิเศษของ สมุฏฐานวาตะ (หทัยวาตะ สัตตกวาตะ สุมนาวาตะ) สุมนาวาตะเป็นพลังของจิต พลังของอารมณ์ พลังของความคิด  บุคคลที่มีภาวะจิตไม่สงบ อาฆาต พยาบาท โกรธง่าย โมโหง่าย เครียด วิตกกังวล เศร้าโศก เสียใจ มีความคิดไปในทางลบ บุคคลเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งโดยไม่รู้ตัว

เมื่อเรามีสภาวะจิต อารมณ์ ความคิด ที่แปรปรวนก็มักจะส่งผลต่อร่างกาย โดยเฉพาะที่ระบบประสาทและสมอง หัวใจ  ทำให้การทำงานของระบบประสาทและสมอง หัวใจ แปรปรวน  เมื่อระบบประสาทและสมอง หัวใจ แปรปรวน ก็ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย  ส่งผลให้ขาดความสมดุลของการทำงานที่สอดประสานกัน  โดยเฉพาะที่สำคัญคือ ระบบประสาทและสมอง หัวใจ ระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต ลำไส้ ปอด กล้ามเนื้อเส้นเอ็น  ผลกระทบกระจายไปทั่ว เป็นเหตุให้ร่างกายเสื่อมเร็วกว่าปกติ  ขบวนการขับพิษก็เสื่อมลงด้วย  พิษจึงสะสมอยู่ภายใน  นานเข้าก็เกิดการติดขัดของระบบไหลเวียน  พิษจะถูกสะสมมากขึ้น เป็นดังนี้เรื้อรังเรื่อยมา จนก่อตัวขึ้นเป็นมะเร็งในที่สุด
โรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากพิษสุมนาวาตะ ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งที่กระเพาะอาหารและลำไส้ มะเร็งปอด เป็นต้น

แนวทางการรักษา การรักษาเหมือนกับการรักษามะเร็งประเภทอื่น ๆ  แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ต้องฝึกควบคุมอารมณ์ให้เป็นกลาง ๆ ฝึกการเรียนรู้การปล่อยวาง ละวาง ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่อาฆาต พยาบาท ไม่จองเวร เรียนรู้การให้อภัย อโหสิกรรมต่อกัน ทำจิตให้แจ่มใสร่าเริง

โรคมะเร็งแพทย์แผนไทยสามารถรักษาได้  แต่ต้องใช้ความอดทน  ระยะเวลา และความร่วมมือของคนไข้ด้วยจึงจะได้ผลการรักษาที่ดี

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น