โรคลมชัก


โดย  ยส    พฤกษเวช

“ โรคลมชัก ในแนวคิดแพทย์แผนไทย ”

โรคลมชัก หรือ ลมบ้าหมู

          “ โรคลม ”  หมายถึง โรคที่เกี่ยวกับการไหลเวียน กล่าวคือ โรคที่เกิดการติดขัด ไม่ขับเคลื่อน เคลื่อนไหว ไม่มีการไหลเวียน เช่น อาการปวด ตึง เมื่อย เคร่งเครียด สั่น กระตุกชัก วิงเวียน หน้ามืดเป็นลม อาการคัน เป็นต้น

           “ ชัก ”  หมายถึง  ภาวะที่มีการกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองอย่างเฉียบพลัน รุนแรง อย่างผิดปกติ  ซึ่งอาจแสดงอาการให้เห็นได้หลายอย่าง  ตั้งแต่อาการชัก  เกร็งกระตุก  อย่างรุนแรงหรือเพียงเหม่อลอยชั่วขณะ

          “ โรคลมชัก ”   จึงหมายถึง  โรคที่เกี่ยวข้องกับการติดขัดของลม และมีการกระตุ้นของพลังในเซลล์สมองอย่างเฉียบพลัน  รุนแรงอย่างผิดปกติ  แสดงอาการชัก เกร็งกระตุก อย่างรุนแรงออกมา

          “ โรคลมชัก ”  เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง  ที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ผิดปกติของสมอง  ทำให้เกิดอาการหมดสติ  เคลื่อนไหวผิดปกติ  รับสัมผัสความรู้สึกแปลก ๆ หรือมีพฤติกรรมผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน  ซึ่งจะเกิดขึ้นฉับพลัน เป็นอยู่ชั่วขณะหนึ่ง  แล้วก็กลับหายเป็นปกติได้เอง แต่มักจะมีอาการกำเริบซ้ำเป็นครั้งคราว  แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคลมชักต่อเมื่อพบว่ามีอาการกำเริบตั้งแต่ ๒ ครั้งขึ้นไป

         การที่เซลล์สมองถูกกระตุ้นมากกว่าปกติ  เกิดจากการเสียสมดุลของพลังธรรมชาติ คือ ปิตตะ วาตะ เสมหะ ที่บริเวณเซลล์สมอง กล่าวคือ มีการ “ ติดขัด ” ของพลังดังกล่าว  ทำให้การไหลเวียนติดขัดไปด้วย หรือเรียกว่า “ ลมติดขัด ” หรือเรียกว่า “ เกิดลม ”   

กล่าวคือ มีเหตุมากระทำให้ เกิดการตีบ ตัน เกร็ง เคร่งเครียด หดกระชับ ขึ้นที่บริเวณสมอง  ส่งผลให้เกิดสภาวะ “ วาตะติดขัด ” ขับเคลื่อนไม่ได้  ทำให้เกิดสะสมพลัง “ ปิตตะ ”   เกิดภาวะคั่งของความร้อน  ความร้อนเพิ่มสูงขึ้น  ทำให้ “ เสมหะ ” บริเวณดังกล่าวแห้งลง หย่อนลง  ทำให้สูญเสียภาวะสมดุล  หรือกล่าวได้ว่า

ภาวะติดขัดดังกล่าว  ทำให้เกิดความร้อน  เกิดแรงดันขึ้น เกิดการกระตุ้น ให้เซลล์สมองมีปฏิกิริยา ชีวเคมี สร้างกระแสไฟฟ้ามากเกินปกติ มีผลทำให้เสียสภาวะสมดุลของการทำงานสมอง  สมองจึงทำหน้าที่ได้อย่างผิดปกติ  แสดงออกมาให้เห็นจากอาการเกร็ง ชักกระตุก เหม่อลอย   การติดขัดของพลังในสมองในโรคลมชัก น่าจะเกิดบริเวณช่วงไหลออก  ทำให้ไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ (ถ้าติดขัดช่วงขาเข้าจะเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต แขน ขา หมดแรง)

เหตุที่ทำให้ลมติดขัดที่สำคัญ

๑. ภาวะเครียด จิตเครียด กายเครียด  ความเครียดทำให้เกิดภาวะเกร็ง หดกระชับ ตีบ ตัน เกิดความร้อน

๒. ภาวะอุดตันของ ๆ เสีย ที่ตกค้างอยู่ตามเส้น  เช่น  พวกลิ่มเลือด  ลิ่มไขมัน  หรือสารละลายในกระแสเลือดต่าง ๆ



แนวทางการรักษา

 ๑. หาเหตุของการติดขัด การอุดตัน และหาดูว่ามีการติดขัด อุดตัน ที่อื่นอีกไหมนอกจากบริเวณสมอง เช่น ที่หัวใจ ตับ เป็นต้น

๒. หามูลแห่งเหตุ ที่มากระทบ ที่ทำให้เกิดภาวะเครียด ติดขัด อุดตัน หรือพิจารณา พฤติกรรมก่อโรค เช่น อาหาร อารมณ์ อิริยาบถ ออกกำลังกาย การพักผ่อน หรือ ดูกรรมพันธุ์ทั้งของมารดาและบิดา หรือการกระทบ แสง สี เสียง รูป รส กลิ่น ต่าง ๆ กระทบร้อน กระทบเย็น เป็นต้น

๓. ปรับพฤติกรรมที่ก่อโรค ตามข้อ ๒

๔. หมั่นออกกำลังกาย กายบริหาร เป็นประจำ

๕. ฝึกควบคุมอารมณ์ให้เป็นกลาง ๆ

๖. นอนพักผ่อนให้มาก ๆ ให้เพียงพอ

๗. ไม่โหมงานหนัก

๘. นวดเพื่อผ่อนคลายบ้าง

๙. อย่าให้ท้องผูกเด็ดขาด ถ่ายท้องให้ได้วันละ ๒ ครั้งจะดี

๑๐ ห้ามดื่มน้ำเย็น ให้ดื่มน้ำอุ่น ๆ เป็นประจำ


การใช้ยา

๑. ใช้ยาคลายเส้น คลายกล้ามเนื้อ เช่น  พวกกษัยเส้น

๒. ใช้ยากระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม  ทั้งลมกองหยาบและกองละเอียด

๓. ใช้ยาระบาย ยาถ่าย ยาละลายลิ่มเลือด ลิ่มไขมัน

๔. ให้ยาฟอกเลือด ยาบำรุงเลือด

๕. ให้ยาปรับธาตุ บำรุงธาตุ ยากระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร ลำไส้

๖. ให้ยาบำรุงสมอง บำรุงหัวใจ บำรุงตับ

การใช้ยาต้องอยู่ในดุลพินิจของหมอ

อาหาร

๑. ไม่ควรกินอาหารที่รส เผ็ดร้อน รสจัด

๒. ไม่ควรกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เย็น

๓. ให้กินอาหารรสปานกลาง ที่กระตุ้นการไหลเวียน และช่วยให้ร่างกายไม่มีภาวะเย็นหรือร้อนจนเกินไป
เช่น  กระเทียม  กระเพราะ  อบเชย  กระชาย  ใบโหระพา  ใบแมงลัก  เป็นต้น หรือ กินอาหารที่บำรุงน้ำดี เช่น  มะระ  ขี้เหล็ก  ฝักเพกา เป็นต้น

๔. งดอาหารย่อยยาก ไขมันสูง ให้กินปลา ผักพื้นบ้านเป็นหลัก

๕. กินพออิ่ม ไม่เกินอิ่ม

๖. กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่กินอาหารหลัง ๖ โมงเย็นไปแล้ว

โรคลมชักที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่อาการชักที่มาจาก ไข้สูง ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เนื้องอกในสมอง พยาธิในสมอง ได้รับสารพิษ ตับวาย ไตวาย น้ำตาลในเลือดต่ำ แคลเซียมในเลือดต่ำ ใช้สารเสพติด หยุดสุรากะทันหันในผู้ที่เป็นพิษสุราเรื้อรัง

บทความนี้เขียนจากความคิดเห็นส่วนตัว  หากท่านใดมีความคิดเห็นที่แตกต่างและหากต้องการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมก็ยินดีนะครับ

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น