โรคกรดไหลย้อน ในแพทย์แผนไทยเรียกว่า เป็นภาวะลมตีขึ้นเบื้องบน ในแผนปัจจุบันหมายถึงภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนขึ้นไประคายเคืองต่อหลอดอาหารและลำคอ ( น้ำย่อยไหลกลับ )
สาเหตุ โรคกรดไหลย้อนเป็นกลุ่มอาการโรคที่เกิดขึ้นในระบบทาง เดินอาหาร พบมากในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาวะระบบทางเดินอาหารเสื่อมหรือหย่อนสมรรถภาพ แพทย์แผนไทยเรียกว่า “ กษัย ” ( กษัย แปลว่า เสื่อม ) ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาการอาจลุกลามกลายเป็นโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา เช่น มะเร็ง แต่ปัจจุบันพบในเด็ก และคนหนุ่มคนสาวในวัยทำงานมากขึ้น มีบ้างในกรณีเด็กทารกที่มีความผิดปกติโดยกำเนิดของหูรูดที่ยังเจริญได้ไม่เต็มที่
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน คือ อาหาร อากาศ อารมณ์ อิริยาบถ ขาดการออกกำลังกาย ท้องผูกเรื้อรัง
อาหาร
- กินอาหารมากเกินไป น้อยเกินไป
- กินอาหารรสจัดเกินไป รสจืดเกินไป
- กินอาหารเน่า อาหารบูด อาหารหยาบ อาหารดิบ
- กินอาหารไม่เป็นเวลา
- กินอาหารย่อยยาก เช่น ของมัน ของผัด ของทอด
- กินยาที่มีผลต่อระบบทางเดินอาหารและลำไส้
- กินผลไม้ รสเปรี้ยว มากเกินไป
- ดื่มสุรา ชา กาแฟ น้ำอัดลม ชาเขียวแช่เย็น บุหรี่
อารมณ์
- เครียด โลภ โกรธ หลง วิตกกังวล อาฆาตพยาบาท อิจฉาริษยา
- กระทบร้อนกระทบเย็น บ่อย ๆ เป็นประจำ
อิริยาบถ
- นั่งนิ่งเนิ่นนานเป็นประจำ เช่น ทำงานใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ
- นั่งงอตัวระหว่างกินอาหารและหลังอาหาร เป็นประจำ ไม่รู้ตัว มีผลให้กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานไม่เต็มที่
ออกกำลังกาย
- มีภาวะขาดการออกกำลังกาย
อุจจาระ
- ท้องผูกเรื้อรัง ทำให้มีของเสียตกค้างอยู่ภายในลำไส้ ลำไส้อุดตัน เกิดแก็สพิษภายใน และขับออกลงล่างไม่ได้ จึงตีขึ้นเบื้องบน
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่หรือยอดอกหลังกินอาหาร ๓๐ – ๖๐นาที บางรายอาจมีอาการปวดแสบร้าวจากยอดอกขึ้นไปถึงคอหอย หรืออาการจุกแน่นยอดอกคล้ายอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ หรือเรอบ่อย บางรายอาจมีอาการขย้อนหรือเรอเอาน้ำย่อยรสเปรี้ยวขึ้นไปที่คอหอย หรือรู้สึกมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในปากหรือคอ หายใจมีกลิ่น
ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยไว้เรื้อรังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ พบบ่อยคือหลอดอาหารอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเวลากลืนอาหาร หากไม่รักษาจะกลายเป็นแผลหลอดอาหาร มีเลือดออก เช่นอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบ กลืนอาหารลำบากอาเจียนบ่อย และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
นอกจากนี้ โรคกรดไหลย้อนเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรค ไซนัสอักเสบเรื้อรัง และผิวฟันกร่อนจากการกัดของน้ำย่อยเป็นเวลานาน
การรักษา
โรคกรดไหลย้อนไม่ใช่โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วย ดังนั้นการรักษาที่สำคัญ จะต้องแก้ไข ปรับปรุงพฤติกรรมที่ก่อโรค เป็นสำคัญจึงจะหายขาด การรักษาจะได้ผลดีต้องรู้ถึงสาเหตุของโรคแล้วแก้ที่สาเหตุของโรคไม่ใช่แก้ที่ผลของโรคหรืออาการของโรคเพียงด้านเดียว
แนวทางการรักษาและป้องกัน
๑. มีอาการระยะแรก ให้ปรับปรุงพฤติกรรมของตน ในเรื่อง อาหาร อากาศ อารมณ์ อิริยาบถ ออกกำลังกาย อุจจาระ ดังนี้
อาหาร
- กินอาหารให้พออิ่ม ไม่ใช่เกินอิ่ม
- ไม่กินอาหารที่มีรสจัดและรสจืดเกินไป ให้กินอาหารรสชาติปานกลาง
- กินอาหารให้เป็นเวลา
- กินอาหารหลากหลายรสชาติ อาหารย่อยง่าย พวกพืชผัก ธัญญะพืช หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยากไขมันสูง หลีกเลี่ยงอาหารผัด อาหารทอด อาหารบูด อาหารเน่า อาหารหยาบ อาหารดิบ
- อาหารต้องใหม่ สด ปรุงเสร็จใหม่ๆ ไม่กินอาหารอุตสาหกรรมสำเร็จรูป เช่น บะหมี่สำเร็จรูป รสแซ่บ รสจัดต่าง ๆ
- งดเหล้า บุหรี่ ชา กาแฟ ชาเขียวแช่เย็น น้ำอัดลม ควรดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดและไม่แช่เย็น
- หลีกเลี่ยงยา ที่มีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารและลำไส้
อารมณ์
- รู้จักปล่อยวาง
- ทำใจให้เป็นกลาง ๆ ไม่เครียด ไม่โกรธอาฆาต พยาบาท ไม่อิจฉาริษยา
- รู้จักการให้อภัย มองโลกในแง่บวกอยู่เสมอ
อากาศ
- หลีกเลี่ยงการกระทบร้อนกระทบเย็น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ห้องแอร์เป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร ไม่ควรเข้าห้องแอร์โดยทันที ควรให้อาหารย่อยหมดในกระเพาะอาหารเสียก่อน ประมาณ ๓๐ นาทีขึ้นไป
- หลีกเลียงอิริยาบถ นั่งนิ่งเนินนาน เป็นประจำ ควรหาโอกาสขยับร่างกายเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เช่น ควรลุกจากที่นั่งทุก ๆ ชั่วโมง ทำตนเองให้กระฉับกระแฉงอยู่เสมอ
- ไม่งอตัวหรือนั่งงอตัว โดยเฉพาะระหว่างกินอาหาร และหลังอาหาร
- ระหว่างกินอาหารและหลังอาหาร ควรนั่งตัวตรง ๆ ยืดตัวขึ้นเล็กน้อย เมื่อกินอาหารเสร็จแล้วไม่ควรนั่งอยู่กับที่ เด็ดขาด ควรลุกขึ้นยืนยืดตัวขึ้นเล็กน้อย เดินไปมา ประมาณไม่ต่ำกว่า ๓๐ นาที
- ต้องเป็นคนรักการออกกำลังกาย อย่างน้อย ๕ วันต่อหนึ่งอาทิตย์ และออกกำลังให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ไม่ใช่ออกกำลังหักโหม เกินกำลัง
อุจจาระ
- อย่าปล่อยให้เป็นคนท้องผูก ต้องอุจจาระให้ได้อย่างน้อยวันละ ๑ – ๒ ครั้ง
๒. หากมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง และมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เสียงแหบ ไอเรื้อรัง กลืนอาหารลำบาก คลำได้ก้อนในท้อง ถ่ายอุจจาระดำ เจ็บหน้าอกบ่อย อาเจียน น้ำหนักตัวลด ฯลฯ ควรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย วางแผนการรักษา ที่สำคัญอย่าซื้อยามารักษาตัวเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์นะครับ
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ขอบคุณครับ
ตอบลบ