วัยทอง



    
โดย  ยส  พฤกษเวช

         วัยทอง เป็นคำเรียกผู้ที่ก้าวเข้าสู่ช่วงความเปลี่ยนแปลงของอายุและสุขภาพจากวัยผู้ใหญ่ไปสู่วัยผู้สูงอายุ โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วงอายุ ๔๐ - ๖๐ ปี


          วัยทองในสตรี สตรีวัยทองจะพบกับภาวะหมดประจำเดือน ประมาณอายุ ๔๕ - ๕๒ ปี  สาเหตุมาจากความเสื่อมของร่างกาย  โดยเฉพาะไฟธาตุเสื่อม  ส่งผลให้รังไข่เสื่อมสภาพไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้เพียงพอ

          อาการที่พบบ่อย อารมณ์หงุดหงิดง่ายแบบไม่มีเหตุผล  มักนอนไม่หลับ ร้อน ๆ หนาว ๆ  มักเป็นในตอนกลางคืน เราเรียกอาการแบบนี้ว่า " เลือดจะไปลมจะมา "

          อาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์   จะมีภาวะช่องคลอดแห้งไม่มีน้ำหล่อลื่น   มักเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์  มีอาการคันบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์  ปัสสาวะบ่อย  ติดเชื้อง่าย  มีภาวะกระดูกพรุน  โดยจะมีการลดลงของมวลกระดูกอย่างมากในช่วง ๑ - ๕ ปีแรก ของการหมดประจำเดือน เมื่ออายุมากขึ้นจึงมีภาวะเสี่ยงของกระดูกหักง่ายกว่าปกติ  จึงควรระวังในเรื่องการหกล้มกระแทกพื้น เพราะเมื่อเกิดภาวะกระดูกหักแล้ว  โดยเฉพาะกระดูกสะโพกจะรักษายากมาก  ผู้ป่วยจะช่วยตัวเองไม่ได้ต้องนอนอยู่กับที่ตลอดเวลา  ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา  เช่น  ปอดอักเสบ ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ  เกิดแผลกดทับ เป็นต้น



          อาการผิดปกติของหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดที่หัวใจมักมีภาวะหัวใจขาดเลือด  เมื่อฮอร์โมนเพศหญิงต่ำลง ไขมันจะไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้ง่าย  ทำให้มีการอุดตันของหลอดเลือดได้ง่าย

          วัยทองในบุรุษ  วัยทองในผู้ชาย ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งร่างกายและจิตใจ และมีผลต่อสุขภาพและการปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่น

           การเปลี่ยนแปลงสภาพทางร่างกาย เช่น  กล้ามเนื้อลีบหรือแฟบไม่ค่อยมีแรง  ปวดเมื่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ   มีอาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย   มีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ  อวัยวะสืบพันธุ์มีขนาดเล็กลง  ต่อมลูกหมากโต  ทำให้ปัสสาวะขัดหรือกะปริบกะปรอย มีภาวะกระดูกพรุน  ลงพุงง่าย  สมองเสื่อม  สมรรถภาพทางเพศเสื่อม

           การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ  มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย  ความจำเสื่อม  สมาธิต่ำ  ซึมเศร้า  กลัว ตกใจง่าย  ทำอะไรมักขาดเหตุผล

           การเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ  ไขมันในเลือดสูง  เกิดโรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน เสี่ยงเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

           วัยทองทั้งหญิงและชายที่มีความเครียด  ความเครียดสะสม จะมีปัญหาเรื่องอารมณ์  สมาธิ ความจำเสื่อมเร็ว  การตัดสินใจล่าช้าผิดพลาดง่าย  มักมีปัญหากับผู้ร่วมงาน  ส่งผลให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ  เกิดปัญหาในครอบครัว  มีโรคร้ายรุมเร้ามากมาย  ปัญหาสำคัญเกิดจากความเสื่อมของธาตุทั้ง ๔ โดยเฉพาะธาตุไฟ  ทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนบกพร่อง  ในบุรุษทำให้มีอายุสั้นกว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยประมาณ ๕ ปี


คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทองทั้งบุรุษและสตรี

๑. ควรกินอาหารให้ครบถ้วน หลากหลายรส  กินรสปานกลาง ไม่รสจัด และไม่รสจืด  กินอาหารย่อยง่าย กินพออิ่ม ไม่เกินอิ่ม กินเป็นเวลา  ไม่ควรกินอาหารหลัง ๑๘ . ๐๐ น. ไปแล้ว  กินอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เช่น  ผักสีเขียว ๆ  ไม่กินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ไม่กินน้ำเย็น งดเหล้าและบุหรี่เด็ดขาด  กินอาหารประเภทผักพื้นบ้านเป็นหลัก เช่น ตำลึง คะน้า ใบยอ ยอดแค กระชาย ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน แครอท ธัญพืชต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง งดอาหารหวาน ไขมันสูง

๒. ควรเป็นคนรักการออกกำลังกาย กายบริหาร ให้ถูกแสงแดดอ่อน ๆ เช้าครั้ง เย็นหน

๓. ฝึกควบคุมอารมณ์  ฝึกการทำใจให้เป็นกลาง ๆ  เรียนรู้การให้อภัย  ลดละเลิก โลภ โกรธ หลง ไม่อาฆาตพยาบาท เรียนรู้การแผ่เมตตาเป็นประจำ  หมั่นสวดมนต์  นั่งสมาธิ

๔. ควบคุมอิริยาบถ นั่ง เดิน ยืน นอน ให้เสมอกัน ไม่อยู่ในอิริยาบถใดนานเกินไป

๕. หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ

๖. ดูแลเรื่องการขับถ่าย ไม่กลั้นปัสสาวะ  อุจจาระ  ถ่ายอุจจาระได้วันละ ๒ ครั้งจะดี

๗. พักผ่อนให้เพียงพอ พอเหมาะ ไม่นอนดึก แต่ให้ตื่นเช้า ๆ มาออกกำลังกาย  กายบริหาร

๘. ควรหากิจกรรมทำสม่ำเสมอ  พยายามเข้ากลุ่มกิจกรรม อย่าอยู่เพียงลำพัง ศึกษาธรรมะ หรืองานศิลป เป็นต้น


ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ยาของคลินิกที่ใช้บรรเทาอาการวัยทอง  ได้แก่














ยาบำรุงร่างกายพฤกษเวช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น