ภูมิแพ้

                                                 

โดย  ยส  พฤกษเวช

ภูมิแพ้  เป็นกลุ่มอาการโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด เป็น ๆ หาย ๆ ตรงกับคำว่า อสาทิยอชินชวร หรือคำว่า อชินโรค

ในการแพทย์แผนไทย  อาการจะเกิดเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นหรือที่เรียกว่าของแสลง  เช่น  กินอาหารหรือยาหรือกระทบกับสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง  มีผลทำให้ร่างกายเจ็บป่วย หรือเป็นโรคอยู่เมื่อกระทบกับของแสลงอาการไข้อาการโรคก็จะกำเริบขึ้น

อาการที่แสดงออกเมื่อกระทบสิ่งที่มากระตุ้นหรือกระทบของแสลง เช่น อาการต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ทำให้เป็นหวัด คัดจมูก คันจมูก จาม น้ำมูกไหล คันคอ เจ็บคอ ไอ มีเสมหะ  เสียงแหบแห้ง หลอดลมตีบตัน เป็นหอบหืด

อาการทางผิวหนัง  เช่น  เป็นเม็ดผดผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย ลมพิษ หนังตาบวม คันตา


อาการทางระบบทางเดินอาหาร  เช่น  ทำให้ท้องเสีย อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด 


สาเหตุ  แบ่งได้ดังนี้

๑. ธาตุพิการ    เกิดจากระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายแปรปรวนไม่ปกติ โดยมากเกิดในระบบทางเดินอาหาร ระบบการไหลเวียนของโลหิตและระบบประสาท   มักเป็นตั้งแต่เด็กเรื่อยมาโดยไม่รู้ตัว  จึงไม่ได้รับการแก้ไข นานเข้าส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย  อาการเช่น ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ กรดไหลย้อน  มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ประถมจินดา คัมภีร์ธาตุบรรจบ

๒. ได้รับพิษสะสมหรือได้รับเชื้อสะสม เรื้อรังเรื่อยมา ไม่ได้รับการรักษาหรือขับล้าง จึงส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เมื่อพิษสะสมมากขึ้นและได้รับปัจจัยมากระตุ้นหรือกระทบของแสลง ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ขับพิษออกมา  เช่น เกิดเม็ดผด ผื่น คัน น้ำเหลืองเสีย ลมพิษ คัดจมูกหายใจไม่ออก มีเสมหะมาก ท้องเสียอย่างรุนแรงเป็นต้น มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ประถมจินดา คัมภีร์ธาตุบรรจบ

๓. มีสาเหตุทั้ง ธาตุพิการและได้รับพิษสะสม  โดยในระยะแรก ๆ ในวัยทารก วัยเด็ก  อาจมีปัญหาเกี่ยวกับธาตุพิการ แต่ไม่รู้หรือรักษาไม่หายขาด ขณะเดียวกันก็ได้รับเชื้อ โดยอาจได้รับทางพันธุ์กรรม และได้รับเพิ่มขึ้นอีกเมื่อคลอดออกจากครรภ์มารดาและเจริญเติบโตขึ้น จากการกินน้ำนมมารดาที่พิการ จากอาหาร จากการได้รับสารพิษต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมที่มีพิษ  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะภูมิแพ้เร็วยิ่งขึ้นและหนักขึ้น

คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะเป็นภูมิแพ้  มักมีสาเหตุมาจากทั้งปัญหาธาตุพิการและมีพิษสะสมอยู่ภายในไปด้วยพร้อม ๆ กัน  การรักษาจึงยาก มีความซับซ้อนของกลุ่มอาการโรค การรักษาต้องใช้เวลารักษาอย่างต่อเนื่อง หมั่นติดตามผลและเฝ้าดูอาการ

แนวทางการรักษา

ในกรณีธาตุพิการ  โดยมากมักเกิดในทารกหรือเด็กอ่อน ในสมัยโบราณเรียกว่า โรคซางหรือตานซาง ตานโจร สมัยก่อนใช้วิธีการกวาดยา เพื่อปรับธาตุเด็กและขับถ่ายของเสียออกจากตัวเด็ก ซึ่งปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมกันแล้ว 

โรคซาง ตานซาง ตานโจร ถ้ารักษาไม่หายขาด จะเกิดการสะสมพิษของโรคไว้ ในอนาคตเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะมีโอกาส
เป็นโรคริดสีดวง และเป็นโรคมะเร็งได้

ในกรณีมีพิษสะสมอยู่ภายในร่างกาย  แนวทางการรักษา ต้องมีการระบาย ขับถ่ายของเสีย กระทุ้งพิษออก ให้ยาฆ่าเชื้อภายใน ให้ยาเสริมภูมิต้านทาน ให้ยาปรับธาตุ บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต

ในกรณีธาตุพิการและมีพิษสะสมอยู่ภายใน  แนวทางการรักษาค่อนข้างจะยุ่งยาก ต้องรักษาแบบประคับประคองและเฝ้าดูอาการผลข้างเคียงเป็นระยะ ๆ

ความยากในการรักษาอยู่ที่การให้ยาแก่คนไข้ เพราะเมื่อให้ยาปรับธาตุ ยาปรับธาตุอาจแสลงต่ออาการภูมิแพ้  คนไข้จะตกใจกลัวและไม่กล้าทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นผู้เป็นหมอต้องใช้ดุลพินิจในการวางยาแก่คนไข้อย่างระมัดระวัง   และอธิบายให้คนไข้เข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดจากการใช้ยา โดยปกติไม่มีอันตราย แต่คนไข้จะตกใจกลัว และจะขอยุติการรักษา

อาการที่อาจเกิดขึ้นคือ จะมีอาการกำเริบมากยิ่งขึ้นของอาการมีเม็ด ผด ผื่น คัน น้ำเหลืองเสีย อาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นสภาวะที่ร่างกายขับพิษออกมา ซึ่งจำเป็นต้องกระทุ้งออกมาให้หมดให้สิ้น  แต่คนไข้มักจะตกใจกลัว และขอหยุดการรักษา

ในคัมภีร์แพทย์แผนไทย ได้กล่าวถึงลักษณะอาการโรคเรื้อรังรักษายากหรือรักษาไม่หาย โดยแพทย์วางยาขนานใด ๆ ก็มิฟัง มีอยู่ดังนี้

คัมภีร์ประถมจินดา  ( ภูมิแพ้ในเด็ก )  ผูก ๖  ลักษณะตานโจรว่าด้วย ธาตุกำเนิด ธาตุบรรจบ ธาตุพิการ ธาตุแตกธาตุอติสาร  ในหนังสือแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์  ๒๕๔๒ หน้า ๒๙๖ , ๒๙๗
ได้วางแนวทางการรักษาโรคเด็กที่แพทย์วางยาขนานใดๆมิฟัง โดยให้ทำการบรรจบธาตุเด็กกับธาตุแห่งมารดา

กล่าวคือ ให้ปรุงยาแก้ธาตุกำเนิดของเด็กผสมกับยาแก้ธาตุกำเนิดของมารดา ให้เด็กกินก่อน เพื่อเป็นการปรับธาตุเด็กแล้วจึงปรุงยารักษาอาการโรคที่เป็นต่อไป

คัมภีร์ประถมจินดาได้กล่าวถึงโทษน้ำนมแห่งมารดา ห้ามมิให้กุมารกิน เพราะจะทำให้กุมารเกิดโรคได้ และถ้าไม่รักษาจะมีผลต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย ภูมิต้านทานเด็กในอนาคต  และเป็นสาเหตุให้เด็กในปัจจุบันนี้เป็นโรคภูมิแพ้กันมาก เหตุเพราะกินน้ำนมมารดาที่ให้โทษ  มี ๓ ประการดังนี้

         ๑. ห้ามมิให้กุมารกินน้ำนมเพราะโลหิตพิการของมารดา  กล่าวคือ มีการติดเชื้อในกระแสโลหิตของมารดาและมารดาไม่ได้อยู่ไฟ   ห้ามมิให้กุมารนั้นกินนมเลย เพราะโทษน้ำนมนั้นดิบ

         ๒.  ห้ามมิให้กุมารกินน้ำนมมารดา เพราะน้ำนมมารดามีภาวะ โลหิตกับน้ำนม น้ำเหลืองระคนกัน ถ้ากินเข้าไปแล้วจะบังเกิดโรคต่างๆ  เพราะเส้นเอ็น ๓๐๗  เส้น เป็นสายโลหิตจากมารดา อันรัดรวมกันอยู่ที่หัวนม กุมารบริโภคเข้าไปจึงเป็นโรค

        ๓.  ห้ามมิให้กุมารกินน้ำนมมารดา เพราะในน้ำนมมารดามีตัวพยาธิกินอยู่  คัมภีร์อธิบายมารดาเช่นนี้ว่าเบญจสตรี  คือมีพยาธิกินอยู่ เป็นเจ้าเรือนแห่งตน  ดังนี้ 

๑. กินอยู่ในหัวใจ
๒. กินอยู่ในตับ
๓. กินอยู่ในปอด
๔. กินอยู่ในนาภี
๕. กินอยู่ในทรวงนม  กิมิชาติ ( พยาธิ )

ทั้ง ๕ จำพวกนี้ กระทำให้อกแห้ง มีตัวดังตัวด้วง ปากดำแหลม ตัวขาว  สมมุติเรียกว่า งานม  ถ้ากุมารบริโภคน้ำนมดังนี้ จะเกิดโรคพยาธิต่าง ๆ

คัมภีร์ธาตุบรรจบ  ( ภูมิแพ้ในผู้ใหญ่ )  จากตำราการแพทย์ไทยเดิม  ฉบับอนุรักษ์  ๒๕๓๕  หน้า  ๓๐๙
ได้กล่าวถึงโรคที่รักษาไม่หายหรือ อสาทิยโรค ซึ่งมีอยู่ ๓ ประการคือ อสาทิยโบราณชวร  อสาทิยมรณัมติกชวร  และอสาทิยอชินชวร  ลักษณะอาการภูมิแพ้ น่าจะใกล้เคียงกับอาการที่เรียกว่าอสาทิยอชินชวร ซึ่งเป็นโรคคร่ำคร่า เรื้อรัง โรคธรรมดานี่เอง แต่รักษาไม่หาย ซ้ำด้วยบังเกิด อชินโทษอยู่เนือง ๆ เหตุเพราะบริโภคอาหารและยาที่ไม่ถูกกับโรคไม่ถูกกับร่างกาย     

อชินโทษ แยกพิจารณาได้ ๒ กรณี คือ
                อชินธาตุ เหตุด้วยกินอาหารแสลง ทำให้ร่างกายเจ็บป่วย
                อชินโรค เหตุด้วยกินอาหารหรือยาไม่ถูกกับโรคทำให้อาการหนักขึ้น 

อชินโรคเป็นโรคที่รักษาไม่หายหรือหายโดยยาก คือให้ยาและสิ่งของอันไม่ควรแก่โรค ถ้าเว้นของที่ไม่ควรได้แล้วโรคนั้นก็จะบรรเทาคลายแลหายได้โดยเร็ว

คัมภีร์อติสาระวรรค ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์   ( เป็นระยะสุดท้ายของภูมิแพ้ )  ได้กล่าวถึง

ลักษณะอติสารที่เรียกว่า อชินธาตุอติสาร ซึ่งเป็นกลุ่มอาการโรคที่เกิดจากการกินอาหารผิดสำแดงและกินยาไม่ถูกกับโรค เรื้อรังเรื่อยมา   เป็นอาการโรคที่ต่อเนื่องจากคัมภีร์ธาตุบรรจบ  ในคัมภีร์อติสาระวรรค เป็นระยะสุดท้ายของโรค  มีอาการถ่ายออกมาเป็นโลหิต ยากต่อการรักษา หรือรักษาไม่ได้  โรคในคัมภีร์อติสาระวรรค น่าจะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ มะเร็งปอด ระยะสุดท้าย
    
ดังนั้น  คนที่มีภาวะภูมิแพ้จึงควรทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่หายขาดแต่ก็ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง  โดยการขับล้างพิษที่สะสมอยู่ภายในอย่างสม่ำเสมอ และรักษาร่างกายให้แข็งแรงไว้ ไม่ให้เกิดอาการโรค  ที่สำคัญต้องละเว้นหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่มากระตุ้นหรือของแสลง คุณก็จะมีร่างกายเป็นปกติ ไม่เจ็บไข้ด้วยอาการภูมิแพ้ หรือแม้จะมีอาการ ร่างกายของเราก็จะปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลโดยเร็ว

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

กลุ่มยาของคลินิกที่ใช้บรรเทาโรคภูมิแพ้ ประกอบด้วย


 

      ยาแก้ภูมิแพ้               ยาแก้พิษพฤกษเวช 1                                                                          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น