รูมาตอยด์

                    โดย  ยส  พฤกษเวช

                โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เป็นภาวะที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งทั่วร่างกายพร้อม ๆ กัน  ร่วมกับมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ แพทย์แผนปัจจุบันเชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมคุ้มกันของร่างกายตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทาน ( แอนติบอดี ) ที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อในบริเวณข้อของตนเองเรียกว่า ปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง ( autoimmune )

                ในทัศนะแพทย์แผนไทย เรียกว่า ประดงข้อ หรือประดงเข้าข้อ  เป็นภาวะน้ำไขข้อพิการ   ในตำราหัตถเวชกรรมแผนไทย ( นวดแบบราชสำนัก ) จะตรงกับโรคลมลำบอง  ซึ่งเกิดจากอาหารและอากาศ   มีสภาวะของการติดขัดคั่งค้างของเลือด (มีพิษ)   น้ำไขข้อ (เสมหะ)   ทำให้การไหลเวียน ( วาตะ ) ติดขัด  สะสมคั่งค้างพอกพูน  จึงเกิดความร้อน (ปิตตะ) อักเสบ บวม แดง ร้อน  ทำให้เกิดการตีบตันของเส้น (นหารู)  แล้วส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบและข้อพิการ   จนใช้งานไม่ได้   นอกจากนี้พิษที่สะสมอยู่ จะไหลเวียนไปตามกระแสโลหิตเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง  ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ภูมิคุ้มกันจึงต่ำลง   ส่งผลให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา


               อาการ  ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป  ด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูกนำมาก่อน  นานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน แล้วต่อมาจึงมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็น

              ส่วนน้อยอาจมีอาการของข้ออักเสบเกิดขึ้นฉับพลัน  ภายหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคติดเชื้อ หลังผ่าตัด  หลังคลอด หรืออารมณ์เครียด  ซึ่งบางรายอาจมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโตร่วมด้วยข้อที่เริ่มมีอาการอักเสบก่อน ได้แก่  ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า  ต่อมาจะเป็นที่ข้อไหล่ ข้อศอก  ผู้ป่วยจะมีลักษณะจำเพาะ คือ มีอาการปวดข้อ พร้อมกันและคล้ายคลึงกันทั้ง ๒ ข้าง และข้อจะบวม แดง ร้อน นิ้วมือ นิ้วเท้า จะบวมเหมือนรูปกระสวย  ต่อมาอาการอักเสบจะลุกลามไปทุกข้อทั่วร่างกาย  ตั้งแต่ข้อ ขากรรไกร ลงมาที่ต้นคอ ไหปลาร้า ข้อไหล่  ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือ ลงมาจนถึงข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า

              
             อาการเริ่มเป็นใหม่ ๆ จะมีอาการปวดข้อและข้อแข็ง ( ขยับลำบาก ) มักจะเป็นมากในช่วงตื่นนอนหรือตอนเช้า ทำให้รู้สึกขี้เกียจ หรือไม่อยากตื่นนอน พอสาย ๆ หรือหลังมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาการจะทุเลา บางรายอาจมีอาการปวดข้อตอนกลางคืน จนนอนไม่หลับ อาการปวดข้อจะเป็นอยู่ทุกวัน และมากขึ้นนานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมีบางระยะอาจทุเลาไปได้เอง แต่จะกลับกำเริบรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะมีความเครียดหรือขณะตั้งครรภ์

                นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น  ภาวะโลหิตจาง ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนัง  อาการปวดชาปลายมือ  จากภาวะเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น อาการนิ้วมือ นิ้วเท้าซีดขาว และเปลี่ยนเป็นเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต ตาอักเสบ หัวใจอักเสบ หลอดเลือดแดงอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักลด เป็นต้น

                สาเหตุ   เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคปวดข้อรูมาตอยด์ มีเหตุปัจจัยหลายอย่างร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง  ดังนี้คือ

๑ ) เป็นไข้พิษ ไข้กาฬ เรื้อรัง  ในปัจจุบันคนเป็นกันมาก แต่หมอแผนปัจจุบันไม่รู้จัก ทำให้ขาดการรักษาอย่างถูกวิธี ส่งผลให้เกิดการสะสมโรคอยู่ภายใน ทำให้โลหิตเป็นพิษ มีพิษสะสมเรื้อรังอยู่ในเลือดและเสมหะ  และไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ไข้พิษ ไข้กาฬ ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ตักศิลา

       ในคัมภีร์ตักศิลา ได้อธิบายการรักษา ไข้ประดง ( ไข้กาฬแทรกไข้พิษ ) ซึ่งมีข้อความบางตอน ใกล้เคียงกับการเกิดโรค ปวดข้อรูมาตอยด์ ดังนี้  ....... วางยาดับพิษ กระทุ้งพิษ อย่าให้พิษกลับเข้ากระดูกได้ ให้ออกจากร่างกายให้หมดสิ้น ถ้าออกไม่หมด ทำพิษคุดในข้อในกระดูก กลับกลายเป็นโรคเรื้อน โรคพยาธิ  ลมจะโป่ง  ลมประโคมหิน บวมทุกข้อทุกลำ มีพิษไหวตัวมิได้... 


๒ ) อิริยาบถ คนไข้มักมีอิริยาบถ นั่ง นิ่ง เนิ่นนาน สะสมเรื้อรัง 
ทำให้เกิดการติดขัดของระบบไหลเวียน

๓ ) ขาดการออกกำลังกายอย่างรุนแรง  ทำให้ขาดการกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ระบบการไหลเวียนเลือดต้องอาศัยระบบการทำงานของกล้ามเนื้อที่แข็งแรงด้วย มิใช่อาศัยการทำงานของหัวใจเพียงอย่างเดียว

๔ ) อาหาร โดยเฉพาะอาหารที่แสลง หรืออาหารที่ไม่ถูกกับธาตุ ซึ่งจะเป็นพิษและสะสมเรื้อรังเรื่อยมา

๕ ) มลพิษจากสิ่งแวดล้อม อากาศที่เป็นพิษ ถูกสูดดมเข้าระบบทางเดินหายใจ และพิษได้สะสมอยู่ภายในเลือด ในตับ ไต เรื้อรังเรื่อยมา

๖  ) พิษที่สะสมอยู่ภายในร่างกายโดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร จะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือด สะสมเรื้อรังเรื่อยมา โดยมักมีภาวะท้องผูกเรื้อรังร่วมด้วย

๗ ) พิษในโลหิตระดูสตรีที่ไม่ได้ถูกขับออกตามปกติ ในทัศนะแพทย์แผนไทย โลหิตระดูสตรี  เป็นโลหิตมีพิษ ที่จะต้องถูกขับออกจากร่างกายเป็นประจำทางทวารมดลูก เดือนละครั้ง ที่เรียกว่า ประจำเดือน หากมีเหตุให้โลหิตระดู  ไม่ถูกขับออกตามปกติ ทำให้เกิดการสะสมพิษ และถูกดูดซึมเข้ากระแสโลหิต เกิดการสะสมพิษเรื้อรังเรื่อยมา

๘ ) พิษจากน้ำคาวปลา จากการคลอดบุตรที่ไม่ได้อยู่ไฟ และขับน้ำคาวปลา ทำให้พิษสะสมอยู่ภายใน ส่งผลให้โลหิตเป็นพิษตามมา

๙ ) อารมณ์เครียด วิตกกังวล เป็นเหตุปัจจัยเสริมมากระตุ้น ให้เกิดภูมิต้านทานต่ำลง

๑๐ ) ท้องผูกเรื้อรัง เป็นปัจจัยให้เกิดการสะสมพิษในระบบทางเดินอาหาร


แนวทางการรักษา   

                โรคปวดข้อรูมาตอยด์ แพทย์แผนไทยสามารถรักษาได้ครับ แต่ต้องใช้เวลาในการขับพิษ กระทุ้งพิษออกให้หมดให้สิ้น  และการวางแผนการรักษา เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีเหตุปัจจัยไม่เหมือนกัน ที่สำคัญควรต้องรักษาแต่ในระยะแรก ๆ ที่โรคยังอ่อนอยู่ หากให้ลุกลามนานเข้า หรือรักษาผิดวิธี ก็จะยากต่อการรักษาครับ   

แนวทางการรักษาทั่ว ๆ ไปมีดังนี้

- ระบาย ถ่าย ขับ กระทุ้งพิษออกจากร่างกาย

- สะลายลิ่มเลือด ลิ่มเสมหะ ที่บริเวณข้อ เพื่อทุเลาอาการ ปวด บวม แดง ร้อน ให้ข้อขยับง่ายขึ้น

- กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ด้วยการบริหาร  ขยับข้อ เบา ๆ บ่อย ๆ และใช้ยากระตุ้นการไหลเวียนโลหิตร่วมด้วย

- ล้างพิษในเลือด ฆ่าเชื้อในเลือด ฆ่าเชื้อในระบบน้ำเหลือง

- บำรุงเลือด บำรุงตับ ไต

- ให้ยาเสริมภูมิต้านทาน

- นวดอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียน ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ

- ออกกำลังกาย กายบริหารเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ

- งดของแสลง

- ควบคุมอารมณ์ ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล

การรักษาหากคนไข้ให้ความร่วมมือ และมีความอดทน การรักษาก็จะได้ผลดีขึ้นและเร็วขึ้นด้วยครับ

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
                                                                          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น