กล้ามเนื้ออ่อนแรง


โดย  ยส  พฤกษเวช

          คำว่า ALS ย่อมาจาก Amyotrophic Lateral Sclerosis โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส ไม่ใช่โรคของกล้ามเนื้อโดยตรง  แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง แล้วส่งผลทำให้

กล้ามเนื้ออ่อนแรง  เนื่องจากขาดเซลล์ประสาทนำคำสั่งมาควบคุม  ซึ่งเซลล์เหล่านี้มีอยู่ในไขสันหลังและสมอง  โดยที่เซลล์ประสาทนำคำสั่งเหล่านี้ค่อยๆ เกิดการเสื่อมและตายไปในที่สุด  และเนื่องจาก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส  เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของ เซลล์ประสาทนำคำสั่ง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "โรคของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง (motor neuron disease; MND) หรือ โรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม"  ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะรู้จักโรคนี้ในชื่อของโรค ลู-เก-ริก (Lou Gehrig Disease) ซึ่งตั้งชื่อโรคตามชื่อนักเบสบอลที่มีชื่อเสียงที่เป็นโรคนี้ในปี ค.ศ. 1930


สาเหตุของ โรคกล้ามเนื้ออ่อน แรงเอแอลเอส
          ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า  เหตุใดเซลล์ประสาทนำคำสั่งจึงเกิดการเสื่อม  โดยสมมุติฐานเชื่อว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส เกิดจากหลายเหตุปัจจัยก่อให้เกิดโรคร่วมกัน ได้แก่ การมีปัจจัยบางอย่างทางพันธุกรรมซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัด  ที่ทำให้เซลล์ประสาทนำคำสั่งมีโอกาสเสื่อมได้ง่ายกว่าบุคคลอื่น   มีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง สารโลหะหนัก รังสีหรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด  มาช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้เซลล์ประสาทนำคำสั่งเกิดการทำงานผิดปกติ  ร่วมกับอายุที่สูงขึ้นตามกาลเวลา  ทำให้เกิดการเสื่อมสลายของเซลล์   อันเนื่องมาจากแบตเตอรี่ที่คอยสร้างพลังงานให้กับเซลล์ที่เรียกว่า ไมโตคอนเดรีย (mitochondria) มีความผิดปกติ  แต่สมมุติฐานเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่แน่ชัด

อาการและการดำเนินของโรคเอแอลเอส เป็นอย่างไร

          เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของมือ แขน ขา หรือเท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน เช่น  ยกแขนไม่ขึ้นเหนือศีรษะ  กำมือถือของไม่ได้  ข้อมือหรือข้อเท้าตก  เดินแล้วหกล้มบ่อยหรือสะดุดบ่อย  ขึ้นบันไดลำบาก  ลุกนั่งลำบาก เป็นต้น  อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นจนลามไปทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของแขนหรือขาทั้งสองข้างตั้งแต่ต้น  นอกจากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้วยังพบว่า  มีกล้ามเนื้อลีบร่วมกับกล้ามเนื้อเต้นร่วมด้วย  ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ครั้งแรกด้วยมือลีบหรือขาลีบ  พูดไม่ชัด  พูดเหมือนลิ้นแข็ง ลิ้นลีบ เวลากลืนน้ำหรืออาหารแล้ว จะสำลัก

          ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ครั้งแรกด้วยกล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรง  ทำให้เหนื่อยง่ายโดยเฉพาะเวลานอนราบหรือมีอาการต้องตื่นกลางดึก  เพราะมีอาการเหนื่อย  แต่เนื่องจากอาการของโรคเอแอลเอส คล้ายกับโรคอื่น  ทำให้ผู้ป่วยเอแอลเอสในช่วงต้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่น  โดยทั่วไปเมื่ออาการเป็นมากขึ้น  ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อของแขนขาอ่อนแรงและลีบ  อาการที่แย่ลง และมีอาการร่วมกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูด การกลืนอ่อนแรง  จนต้องใช้ท่อให้อาหารทางสายยางผ่านทางจมูกหรือทางหน้าท้อง  และกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรงจนกระทั่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ  ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเอแอลเอส ให้หายขาด  และร้อยละ 50 ของผู้ป่วย เอแอลเอส โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตหลังจากมีอาการในระยะเวลาประมาณ 2 ปี  สาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดจากระบบหายใจล้มเหลว  และการติดเชื้อในปอดอันเนื่องมาจากการสำลัก

โดย : ดร.นพ.จรุงไทย เดชเทวพร


โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ แอล เอส ในทัศน์แพทย์แผนไทย

          อาการของโรคที่กล่าวมานั้น แสดงถึงภาวการณ์ติดขัดของพลัง ปิตตะ วาตะ เสมหะ  อยู่ในกองลม พิกัด ลมอโธคมาวาตา  หรือเกิดจากพิษของ ปิตตะ วาตะ เสมหะ ที่คั่งค้างอยู่ในกองลมดังกล่าว  ส่งผลให้ขาดพลังในการขับเคลื่อนของลมอโธคมาวาตา  จึงแสดงอาการต่าง ๆ ดังกล่าวออกมา

          ลมอโธคมาวาตา เป็นหนึ่งในกองธาตุลม ๖ ประการ ( ลมอุทธังคมาวาตา ลมอโธคมาวาตา ลมกุจฉิสยาวาตา ลมโกฎฐาสยาวาตา ลมอังคมังคานุสารีวาตา ลมอัสสาสปัสสาสวาตา ) ที่มีอยู่ประจำในร่างกายของมนุษย์

ลมอโธคมาวาตา เป็นลมที่พัดลงเบื้องล่าง คือ ลมสำหรับพัดตั้งแต่ศีรษะตลอดปลายเท้า

ลมอโธคมาวาตา เมื่อพิการหรือแตก จะมีอาการ  ให้ยกมือเท้าไม่ได้ ให้เมื่อยขบทุกข้อกระดูก บางครั้งมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย

นอกจากนี้ในคัมภีร์ชวดาร  ยังได้กล่าวถึงลมอโธคมาวาตาไว้ด้วย คือ

พระคัมภีร์ชวดาร

* อาจารย์กล่าวไว้ว่า มนุษย์ทั้งหลายจะเกิดสรรพโรคต่าง ๆ ตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดาตราบเท่าจนอายุขัย อาศัยโลหิตและลม ต่อไปนี้สำแดง ซึ่งลมอันบังเกิดโทษให้ถึงพินาศอันตรายเป็นอันมาก คือ

ลมอันบังเกิดโทษให้ถึงพินาศอันตรายเป็นอันมาก ๒ ประการ

- อุทธังคมาวาต : พัดขึ้นเบื้องบน

- อโธคมาวาต : พัดลงไปจนปลายเท้าเป็นเบื้องต่ำ


           ถ้าลมทั้งสองระคนกันเข้าเมื่อใด จะทำให้โลหิตนั้นร้อนดังไฟ อันเกิดได้วันละ ๑๐๐ หน อาการทั้ง ๓๒ ก็พิกลจากภาคที่อยู่ เตโชธาตุก็มิปกติ เหตุที่ทำให้ลมทั้งสองระคนกันได้และให้โทษแก่มนุษย์ทั้งปวง เนื่องจาก

๑. บริโภคอาหารมิได้เสมอ 

๒. ต้องร้อนต้องเย็นยิ่งนัก


สาเหตุที่ทำให้ลมทั้งสองระคนกัน

- อาหารให้โทษ ๘ ประการ

๑. กินมากกว่าอิ่ม

๒. อาหารดิบ

๓. อาหารเน่า

๔. อาหารบูด

๕. อาหารหยาบ

๖. กินน้อยยิ่งนัก

๗. กินล่วงผิดเวลา

๘. อยากเนื้อผู้อื่นยิ่งนัก

- ต้องร้อนต้องเย็นยิ่งนัก

          ดังนั้น ลมอโธคมาวาตา จึงพัดขึ้นไปหาอุทธังคมาวาตา บางทีลมอุทธังคมาวาตาก็พัดลงมาหาลมอโธคมาวาตา จึงพัดโลหิตเป็นฟอง อาการ ๓๒ จึงเคลื่อน จากที่อยู่

          เหตุที่เป็นไข้เยียวยายากยิ่งนัก ท่านวิสัชนาไว้ว่า อาศัยลมอันหนึ่ง ชื่อ หทัยวาต เกิดขึ้นในน้ำเลี้ยงหัวใจ ถ้ามนุษย์ผู้ใดถึงแก่อายุขัยแล้วเยียวยารักษามิหาย ถ้าเป็นปัจจุบันโทษยังมิตัด พึงให้รวมยาระงับลมหทัยวัตถุเสียก่อน *

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เอ แอล เอส ในทัศน์แพทย์แผนไทย

๑. ได้รับพิษจากอาหารและสิ่งแวดล้อม

๒. อุบัติเหตุ เช่น จากกีฬา เป็นต้น

๓. กินอาหารไม่เหมาะสมกับธาตุ

๔. พักผ่อนไม่เพียงพอ

๕. มีอิริยาบถ นั่ง นิ่ง เนินนาน ซ้ำซากจำเจ เรื้อรังเรื่อยมา

๖. มีภาวะเครียด วิตกกังวล สับสน ซึมเศร้า

๗. ขาดการออกกำลังกาย

๘. มีภาวะสมองเสื่อม

๙. กระทบร้อนกระทบเย็นยิ่งนัก

๑๐. พันธุกรรม หรือ ธาตุกำเนิดไม่สมบูรณ์

ตำรับยาแก้ลมอโธคมาวาตาพิการหรือแตก

ให้เอาเปลือกโมกหลวง ๑  พริกไทย ๑  รากไคร้เครือ ๑  เอาเสมอภาค ทำเป็นจุล ละลายน้ำมูตรโคดำก็ได้ น้ำส้มซ่าก็ได้ กินแก้ลมอโธคมาวาตาหายแล


ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น