ความดันโลหิตสูง

โดย  ยส  พฤกษเวช

          ความดันโลหิต   หมายถึง  แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง อันเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ ( คล้ายแรงลมที่ดันผนังยางรถเวลาสูบลมเข้า ) ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน ( sphygmomanometer ) วัดที่แขน และมีค่าที่วัดได้ ๒  ค่า คือ


     ๑.  ความดันช่วงบน  หรือ  ความดันซิสโตลี    ( systolic blood pressure ) หมายถึง แรงดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว   ซึ่งอาจจะสูงตามอายุ ความดันช่วงบนในคนคนเดียวกันอาจมีค่าต่างกันเล็กน้อย ตามท่าของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และปริมาณของการออกกำลัง

     ๒.  ความดันช่วงล่าง หรือ ความดันไดแอสโตลี ( diastolic blood pressure ) หมายถึง แรงดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว

สาเหตุ

         ๑. ส่วนใหญ่  ( ประมาณร้อยละ ๙๕ ) จะไม่พบโรค หรือภาวะผิดปกติหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความดันโลหิตสูง  เรียกว่า ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ ( primary  hypertension )  หรือความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ  ( essential hypertension )   แต่อย่างไรก็ตาม มักพบว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค  กล่าวคือ   ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้  จะมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติดังกล่าวประมาณ ๓ เท่า

           นอกจากนี้ อายุมาก ความอ้วน การกินอาหารเค็มจัดหรือมีเกลือโซเดียมสูง และการดื่มแอลกอฮอล์จัดก็อาจเป็นปัจจัยเสริมของการเกิดโรคนี้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะเริ่มเป็นความดันโลหิตสูงเมื่ออายุประมาณ ๑๕ – ๕๕ ปี พบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๔๐ ปีขึ้นไป และยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสพบได้มากขึ้น

  ๒. ส่วนน้อย ( ประมาณร้อยละ ๕ ) อาจตรวจพบโรคหรือภาวะผิดปกติหรือสิ่งที่เป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง  เรียกว่า  ความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ  ( secondary  hypertension ) ความดันโลหิตสูงชนิดมีสาเหตุ

สาเหตุที่อาจพบได้มีหลายสาเหตุ


          ๒.๑   ได้รับยาประเภท   เช่น   ยาคุมกำเนิด   ยาสเตอรอยด์   แอดรีนาลีน  เป็นต้น




          ๒.๒   ความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์

          ๒.๓   โรคไต เช่นหน่วยไตอักเสบ

          ๒.๔  หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบตัว ( Coarctation of aorta ) ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว  ( Aorticinsufficiency )  ซึ่งมักจะทำให้ความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว

          ๒.๕  โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น คอพอกเป็นพิษ มักจะทำให้ความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว

          ๒.๖   ภาวะที่ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เช่น ไข้ ซีด หลังออกกำลังกายใหม่ ๆ อารมณ์เครียด

          ๒.๗   ภาวะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัว ( atherosclerosis ) มักจะทำให้ความดันช่วงบนสูง เพียงอย่างเดียว  พบในคนสูงอายุ


 อาการ

               ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการอย่างไรมักจะพบโดยบังเอิญขณะไปให้แพทย์ตรวจรักษาด้วยปัญหาอื่น ส่วนน้อยอาจมีอาการ ปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ วิงเวียน มักจะเป็นเวลาตื่นนอนใหม่ ๆ พอตอนสายจะทุเลาไปเอง อาจปวดศีรษะตุบ ๆ แบบไมเกรน  ในรายที่เป็นมานาน ๆ  หรือความดันสูงมาก ๆ อาจมีอาการ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย  ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว หรือมีเลือดกำเดาออก เมื่อปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษา ก็อาจแสดงอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก บวม หอบเหนื่อย แขนขาเป็นอัมพาต เป็นต้น


สิ่งตรวจพบ

               จะตรวจพบความดันโลหิตช่วงบนมีค่าตั้งแต่ ๑๔๐ มม. ปรอทขึ้นไป หรือช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ ๙๐ มม. ปรอทขึ้นไป หรือสูงทั้งช่วงบนและช่วงล่าง



ภาวะแทรกซ้อน

               ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่นาน ๆ มักจะเกิดความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ไต ประสาทตา เป็นต้น เนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงแทบทุกส่วนของร่างกายเสื่อม เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ( atherosclerosis ) หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่ได้

  
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่
              
      ๑.  หัวใจ จะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโต จนกระทั่งเกิด ภาวะหัวใจวาย ซึ่งจะมีอาการบวม หอบเหนื่อย  นอนราบไม่ได้  อาจทำให้หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตันกลายเป็น  โรคหัวใจ ขาดเลือด  มีอาการเจ็บหน้าอก   ถ้ารุนแรงเกิด  โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

       ๒.  สมอง อาจเกิดภาวะ หลอดเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตก กลายเป็น โรคอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ในรายที่มี เส้นโลหิตฝอยในสมองส่วนสำคัญแตก ก็อาจตายได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นเรื้อรัง บางคนอาจกลายเป็น โรคความจำเสื่อม สมาธิลดลง ในรายที่มีความดันสูงรุนแรง ที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดอาการชัก หรือหมดสติได้

      ๓.  ไต อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ไตที่วายยิ่งทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น

      ๔.  ตา   เกิดภาวะเสี่อมของหลอดเลือดแดงภายในลูกตาอย่างช้า ๆ

      ๕.  หลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หลอดเลือดแดงใหญ่เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และภาวะเลือดเซาะ ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งอาจเกิดอันตรายถึงตายได้ นอกจากนี้หลอดเลือดแดงส่วนที่มาเลี้ยงขาและปลายเท้า ก็อาจเกิดภาวะแข็งตัวและตีบได้


หมายเหตุ : เมื่อความดันช่วงบนและความดันช่วงล่างมีความรุนแรงอยู่ต่างระดับกัน  ให้ถือระดับที่รุนแรงกว่าเป็นเกณฑ์

ที่มา  :   ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป  2   ( นายแพทย์สุรเกียรติ  อาชานานุภาพ )

โรคความดันโลหิตสูงในทัศนะแพทย์แผนไทย

สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงของการแพทย์แผนไทย  เกิดจากสาเหตุของสมุฏฐาน

        ปิตตะ  ( สภาวะหดกระชับ  สภาวะแพร่กระจาย  พลังงานความร้อน  ความแห้ง )

        เสมหะ  ( สภาวะขยาย  ดึงดูดเกาะกุม  สะสมพอกพูน  พลังความเย็น  ความชื้น )

        วาตะ     (พลังการขับเคลื่อน   การเคลื่อนไหว  การไหลเวียน  การติดต่อ  การเชื่อมโยง )
     
  
           กล่าวคือ  สมุฏฐานทั้ง  3  เกิดการติดขัดขึ้นภายในร่างกาย  เช่น  ที่ตับ  ที่หลอดเลือด หลอดเลือดหัวใจ  สมอง  ฯ  เกิดภาวะอุดตันของลิ่มเลือด  ไขมัน  (เสมหะ)  ทำให้การไหลเวียน(วาตะ)  ติดขัด  สะสมพอกพูน  จึงเกิดความร้อน ( ปิตตะ )  และมีแรงดันเกิดขึ้น  เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ ทำให้หัวใจต้องออกแรงสูบฉีดโลหิตมากขึ้น  ภาวะความดันโลหิตสูงจึงเกิดขึ้น  และเพิ่มมากขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขที่สาเหตุ
          
            ความดันโลหิตสูงแพทย์แผนไทยสามารถรักษาให้หายขาดได้    ผู้ป่วยโรคนี้ต้องควบคุมอาหาร ควรหลีกเลี่ยง  อาหารหวาน  ไขมัน โปรตีนสูงจากเนื้อสัตว์  ควบคุมอารมณ์   หมั่นออกกำลังกาย อุจจาระอย่างน้อย  วันละ  2  ครั้ง   ผู้ป่วยที่รักษาแผนปัจจุบันได้รับการรักษาไม่ตรงกับสาเหตุที่เป็น   ยาที่กินก็เป็นสารเคมี  จะสะสมอยู่ที่ตับและไต  และเป็นพิษในเวลาต่อมา  จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคตับและไตได้ 
     
   เมื่อสมุฏฐานทั้ง  3  ติดขัด  จึงส่งผลกระทบต่อธาตุทั้ง  4  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  เกิด กำเริบ  หย่อน  พิการตามมา 
    
       ธาตุดิน : อวัยวะที่ถูกกระทบ  ตับ  หัวใจ  หลอดเลือด  สมอง  ไต

       ธาตุน้ำ : น้ำเลือด  น้ำดี  เสมหัง  (น้ำเศลษ)     

       ธาตุลม : ลมอังคมังคานุสารีวาตา,  ลมอุทธังคมาวาตา ลมอโธคมาวาตา

       (หากลมทั้ง 2 ระคนกันเข้าเมื่อใด  โลหิตนั้นประดุจเดียวกันกับไฟ  อันเกิดได้วันละ 100 หน   อาการทั้ง 32 ก็พิกลจากธาตุที่อยู่ เตโชธาตุก็มิปกติ) ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือด, ลมโกฏฐาสยาวาตา,  ลมกุจฉิสยาวาตา
    
        ธาตุไฟ : ไฟปริณามัคคีหย่อน

แนวทางการรักษา ให้พิจารณามหาภูตรูป  4

ธาตุไฟ 
          - พัทธะปิตตะ : น้ำดี  ดีในฝักหย่อน  ส่งผลกระทบต่อการย่อยอาหารไขมันและโปรตีน
          - อพัทธะปิตตะ : ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหาร  เช่น  ภูมิอากาศ  สิ่งแวดล้อม   ตลอดจนอาหาร เครื่องดื่มและอารมณ์
           - กำเดา : เปลวแห่งความร้อนของโลหิต  อาการที่แสดงออก  เช่น  ปวดหัว  ตัวร้อน
            ให้พิจารณาสมุฏฐานทั้ง  3  มีผลกระทบหรือมีความสัมพันธ์กับปัจจัยดังกล่าวหรือไม่อย่างไร
     
ธาตุน้ำ 
            - ศอเสมหะ : เสมหะที่อยู่บริเวณราวนมขึ้นมา
            - อุระเสมหะ : เสมหะที่อยู่บริเวณราวนมลงมาถึงระดับสะดือ
            - คูถเสมหะ : เสมหะที่อยู่บริเวณระดับสะดือลงมาถึงทวารหนัก  ทวารเบา  มดลูก
              ให้พิจารณาสมุฏฐานทั้ง  3  มีผลกระทบหรือมีความสัมพันธ์กับปัจจัยดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

ธาตุลม
            - หทัยวาตะ : การทำงานของหัวใจ  การเต้นของหัวใจ  การสูบฉีดโลหิต
            - สัตถกวาตะ : การทำงานของระบบประสาท  ตลอดจนระบบการไหลเวียนของโลหิต 
            - สุมนาวาตะ : อารมณ์  ภาวะความเครียด  ความวิตกกังวล  โกรธ  อาฆาตพยาบาท
              ให้พิจารณาสมุฏฐานทั้ง  3  มีผลกระทบหรือมีความสัมพันธ์กับปัจจัยดังกล่าวหรือไม่

  
 ธาตุดิน
              - หทัยวัตถุ : ก้อนเนื้อหัวใจ

              - อุทริยัง : อาหารใหม่  สารอาหารที่รับประทาน 
            
              - กรีสัง : อาหารเก่า  หรือกากอาหาร ของเสียที่รอการขับถ่าย
                 ให้พิจารณาสมุฏฐานทั้ง  3  มีผลกระทบหรือมีความสัมพันธ์กับปัจจัยดังกล่าวหรือไม่

พิจารณามูลเหตุของโรค
      
         - อาหาร     เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรค  ผู้ป่วยมักบริโภคอาหารหวาน ไขมัน โปรตีน  ในปริมาณสูงและต่อเนื่อง
        
         - อารมณ์    ผู้ป่วยมักมีความเครียด  วิตกกังวล  โกธรง่าย สะสมเรื่อยมา บางครั้งเป็นสาเหตุทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตกได้  มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมา
      
         - ออกกำลังกาย    ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมักมีภาวะขาดการออกกำลังกาย
      
         - อุจจาระ  ปัสสาวะ    การขับถ่ายของเสียไม่หมด   ตกค้างอยู่ภายในเป็นปัจจัยเสริม ให้ภาวะความดันโลหิตสูงขึ้น
     

 ตำรับยาที่ใช้รักษา

  ยากษัยเส้น  ยาลดไขมัน  ยารักษาความดัน  ยาขับปัสสาวะ

  ยาระบาย   ยาบำรุงร่างกาย   ยาล้างพิษที่ตับและไต  ยาบำรุงตับและไต
   
  ยาบำรุงหัวใจ  ยาบำรุงสมอง  ยาฟื้นฟูระบบทางเดินอาหาร

ข้อห้าม

               ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้น, ยาที่มีฤทธิ์ร้อน

สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดความดันโลหิตสูงได้ดี    เช่น

กาฝากมะม่วงพรวนทั้งต้น    กระเทียม   ดอกขี้เหล็ก  ขี้เหล็กทั้งห้า  คึ่นฉ่าย เมล็ดชุมเห็ดไทย  บัวบก (ผักหนอก)  รากระย่อมน้อย  ใบรางจืด  ดอกม่วง ว่านน้ำ   เห็ดหลินจือ  หัวหญ้าแห้วหมู  เมล็ดกระถินเทศ  ใบกะเพรา  รากเตยหอม เมล็ดถั่วแระ   เมล็ดทับทิม  ผักกาดหอม  ผักชีหอม  เมล็ดพริกไทยดำ  ฟ้าทะลายโจร  ใบหม่อน หอมหัวใหญ่
     
  
คำแนะนำ
              
        1. ควบคุมอาหารให้ลด ละ เลิก อาหารหวาน ไขมัน โปรตีน  อาหารเผ็ดร้อน อาหารรสจัด   รสเค็ม  อาหารผัด  ทอด  ควรบริโภคอาหาร ธัญพืช  เช่น  ข้าวกล้อง  ลูกเดือย  พืชตระกูลถั่ว   ผักใบเขียว  ผลไม้  อาหารที่เป็นธรรมชาติ  ปรุงแต่งน้อยที่สุด งดเหล้า บุหรี่ ในสตรีที่ทานยาคุมกำเนิด  ควรเลิก  แล้วหันไปคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น

        2.  ลดน้ำหนัก  ถ้าอ้วน

        3.  ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน  เช่น  เดินเร็ว  วิ่งเหยาะ ๆ  ควรเริ่มต้นแต่น้อยก่อน  แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย  อย่าออกำลังที่ต้องมีการเบ่ง  เช่น  ยกน้ำหนัก  วิดพื้น

        4.  ควบคุมอารมณ์   ฝึกทำสมาธิให้จิตใจสงบ  หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้หงุดหงิด  โมโห  ตื่นเต้น  หรือเครียด  หมั่นสวดมนต์ภาวนาตามศาสนาที่ตนนับถือ  เพื่อการปล่อยวาง  คลายความวิตก  ทำให้จิตใจสงบเยือกเย็น    หากิจกรรมทำ  พบปะพูดคุยกับผู้อื่น 
                
         5.  ควรถ่ายอุจจาระอย่างน้อยวันละ  2  ครั้ง  ปัสสาวะวันละ 5-7 ครั้ง  ไม่ควรกลั้นอุจจาระปัสสาวะ 
          
         6.  ตรวจวัดความดันเป็นประจำอย่างน้อยทุก 2 -3 สัปดาห์

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

กลุ่มยาของคลินิกที่ใช้บรรเทาอาการ  โรคความดันโลหิตสูง  ประกอบด้วย

ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเส้นเลือด
ยาลดความดันโลหิต       ยาลดไขมันในเส้นเลือด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น