เบาหวาน

โดย  ยส  พฤกษเวช


           เบาหวาน  เป็นโรคที่มีความผิดปรกติเกี่ยวกับการนำน้ำตาลไปใช้ประโยชน์ เพราะมีความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน ( insulin) ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง  ความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลินมี ๓ ประการคือ

๑. คุณภาพบกพร่อง

๒. ปริมาณบกพร่อง

๓. การไหลเวียนบกพร่อง

           ความบกพร่องของโฮร์โมนอินซูลินทั้ง ๓ ประการนี้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีผลทำให้เกิดภาวะโลหิตพิการ ( โลหิตทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ) และเมื่อสะสมเรื้อรังเรื่อยมา โดยไม่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไขไม่ถูกวิธี   ก็จะเข้าสู่ภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น ไตวาย  กล้ามเนื้อหัวใจวาย  สมองพิการ  ปลายประสาทอักเสบ  ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม  เท้ามีเนื้อตายเน่า  มือเท้าชา อัมพาต  ภูมิคุ้มกันต่ำ  ติดเชื้อง่าย เป็นต้น

          ในภาวะปกติตับอ่อนจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน  ถ้าตับอ่อนมีปัญหาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ  จะส่งผลต่อความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน   สาเหตุที่ทำให้ตับอ่อนทำงานไม่ปกติ คือ



๑. มีการติดขัด
         เกิดการอุดตันปิดกั้นในกระบวนการผลิตและหลั่งอินซูลิน ของเสมหะภายในเซลล์ของตับอ่อน ภาวะเช่นนี้ มักเกิดกับผู้ที่ชอบกินอาหารหวาน อาหารมัน ขาดการออกกำลังกายอย่างรุนแรง
 มักมีอารมณ์เครียด ผู้ที่มีภาวะปิตตะหย่อน ผู้มีภาวะไขมันเกาะตับ ผู้มีภาวะความดันสูง

๒.มีพิษสะสม
          อยู่บริเวณตับอ่อนและเกิดการอักเสบขึ้น  ทำให้เซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเสียหาย  ไม่สามารถทำหน้าที่ได้  ภาวะเช่นนี้มักเกิดในผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้  ผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ  มีภาวะโลหิตเป็นพิษ  เด็กบางคนที่ได้รับพิษทางโลหิตจากมารดา

แนวทางการรักษา

๑. ในกรณีมีการติดขัด เกิดการอุดตันปิดกั้นในกระบวนการผลิตและหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน มีภาวะ   ปิตตะหย่อน ควรใช้ยารสขม เผ็ดหอม ร้อน

๒. ในกรณีมีพิษสะสมอยู่บริเวณตับอ่อน หรือผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้ ควรใช้ยาขับพิษ กระทุ้งพิษ บำรุงตับ ใช้ยาที่มีรสขม เย็น

ที่สำคัญ   การรักษา ไม่ควรซื้อยามากินเอง  ควรอยู่ในความดูแล แนะนำของหมอ  เพราะเบาหวานแต่ละแบบ  คนไข้แต่ละคน  แนวทางการรักษาอาจไม่เหมือนกัน  ต้องมีการปรับยาให้สอดคล้องกับชนิดของเบาหวาน และคนไข้แต่ละคน   นอกจากนี้ต้องมีการควบคุมอาหาร  ควบคุมอารมณ์  ออกกำลังกาย และการปฏิบัติตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย

สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
        
           ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน อาจมีปัญหาการดื้อยา  เมื่อใช้ยาไปนาน ๆ จะต้องเปลี่ยนยาหรือเพิ่มยาไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ 

           นอกจากนั้นยังอาจมีอาการแทรกซ้อนอีกหลายโรค เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต ตาฝ้าฟาง แผลติดเชื้อ แผลเนื้อตาย จนอาจต้องตัดอวัยวะทิ้งไป โรคตับ โรคไต ที่เกิดจากการสะสมของสารพิษหรือยาที่ใช้มานาน เป็นต้น

          ในประเทศไทย มีสมุนไพรที่สามารถใช้ลดน้ำตาลในเลือดได้ดี มีอยู่มากมายหลายชนิด  ซึ่งเป็นทั้งยาและอาหาร ราคาถูกหาง่าย ไม่มีผลข้างเคียง เช่น


อาหารพืชผักที่มีรสขม

เช่น  สะเดา  มะระขี้นก  มะระจีน  ฝักเพกา  ชะพลู  ลูกมะแว้งต้น  ลูกมะแว้งเครือ  ฝักกระเจี๊ยบมอญ  เมล็ดกระถิน  กระเทียม  ดอกและใบกระเพรากระหล่ำปลี  กาแฟ  ปลีกล้วย  รากและรำข้าว  รำข้าวสาลี ยอดดอกหรือฝอยข้าวโพด  ใบขนุนแก่  เหง้าขิง  รากสดของต้นคูณ  คื่นไฉ่  แครอท  ต้นและเปลือกต้นแคแดง ใบชา

ลูกเดือย ตำลึง เตยหอม ถั่วเขียว เมล็ดถั่วแระ เมล็ดทับทิม ใบ เปลือกต้น แก่นทองหลางใบมน น้ำเต้า บุก ดอกบัวหลวง ผักเชียงดา บวบเหลี่ยม ผักเบี้ยใหญ่ รากผักกาดแดง

ผักกาดหอม เมล็ดผักชี ผักคะน้า ผลฝรั่ง ผลพริกขี้หนู เมล็ดพริกไทยดำ ผลมะกอกฝรั่ง ใบมะตูม เมล็ดแมงลัก ใบลิ้นจี่ เมล็ดสะตอ ผลส้มเกลี้ยง หอมแดง หอมหัวใหญ่ เห็ดหลินจือ ช่อดอกอ้อย ส้มกบเครือ เป็นต้น


สมุนไพรที่สามารถใช้เดี่ยว ๆ ได้ 

เช่น  เถาบอระเพ็ด ใบอินทนิลน้ำ ใบขลู่ หญ้าหมอน้อยทั้งต้น หัวบอระเพ็ดพุงช้าง หญ้าลูกใต้ใบชนิดที่มีรสขมทั้งต้น ( ลูกใต้ใบขาว ) ดีบัวหลวง

ใบต้นสัก อบเชย ผักกระชับ เมล็ดกระถินเทศ กำแพงเจ็ดชั้น ต้นกรดน้ำ ใบและเถากรุงเขมา รากคูน เมล็ดคำไทย เปลือกต้นคาง รากต้นจำปา เปลือกต้นจิกนา ใบชุมเห็ดเทศ

ใบและเถาชิงช้าชาลี ดอกดีปลี เปลือกและแก่นตะโกนา ใบประดู่ ใบและต้นปรู๋ ใบปอกระเจา ต้นผักเบี้ยใหญ่ ผักกาดน้ำ ใบและเถาผักโขมหิน ใบไฝ่เหลือง ใบพญายา
เปลือกต้นพญาสัตตบรรณ ฟ้าทะลายโจร ผลอ่อนและยอดอ่อนฟักข้าว มะขามป้อม เปลือกต้นมะเดื่อ

ชุมพร ใบและต้นแมงลักคา ต้นไมยราบ ระย่อมน้อย ว่านหางจระเข้ ดอกสายน้ำผึ้ง แก่นสนทะเล หญ้าหนวดแมว หญ้าหวาน ใบหม่อน หมากดิบน้ำค้าง เห็ดหลินจือ แฮ่ม เป็นต้น

สมุนไพรดังกล่าวนี้ สามารถใช้อย่างใดอย่างหนึ่งได้ ถ้าจะนำมาใช้รวมกัน ควรพิจารณาปริมาณยาที่ใช้ให้เหมาะสม  เพราะอาจลดน้ำตาลมากเกินไป



ข้อควรระวัง

๑. ควรพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ   ระหว่างการรักษาถ้าสามารถเว้นการมีเพศสัมพันธ์จะเป็นปกติเร็วขึ้น

๒. งดอาหารพวกน้ำตาลหรือพวกที่สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ เช่น เหล้า เบียร์ อาหารที่ทำจากแป้ง ควรกินข้าวกล้อง กินผักให้มาก ๆ อาหารปลอดสารพิษ

๓. งดอาหารที่มีกลิ่นเหม็นเขียว ของหมักดอง หัวผักกาด ( หัวไชเท้า ) ปลาร้า หน่อไม้ อาหารคาวมาก น้ำอัดลม เป็นต้น

๔. รักษาอารมณ์ไม่ให้เครียด




ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น