มือสั่น

โดย  ยส  พฤกษเวช

อาการมือสั่นที่หาสาเหตุไม่ได้

          อาการมือสั่นโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคภัยการเจ็บป่วยที่ตัวมี  เช่น  ไทรอยด์ หรือจากอุบัติเหตุนั้น อาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากภาวะของธาตุทั้ง ๔ ในร่างกายของเราผิดปกติ โดยจะกระทำให้เกิดภาวะดังต่อไปนี้

- พลังขับเคลื่อนหย่อนลง หรือฐานของลมไม่มีกำลังเพียงพอที่จะควบคุมระบบการไหลเวียนของกระแสประสาท (วาตะหย่อน)

- ทำให้เกิดภาวะการอุดตัน ตีบตัน ของแนวเส้นใยประสาท มีผลทำให้เซลล์สื่อประสาท (neuron) เคลื่อนไหวไป - มาระหว่างจุดเชื่อมต่อประสาท (synapse) เดินทางไม่สะดวก ขาดความถูกต้อง ฉับไว และแม่นยำ (สัตตกวาตะหย่อน)

- ทำให้สารเหลวที่นำพาเซลล์สื่อประสาทเหือดแห้ง (เสมหะหย่อน)

- ทำให้เกิดภาวะการทำงานของระบบอวัยวะภายในไม่สอดประสานกัน เช่น การทำงานประสานกันระหว่างหัวใจกับสมอง หัวใจกับตับ หรือระหว่างหัวใจ ตับ สมอง (สัตตกวาตะพิการ)


มูลเหตุที่ทำให้เกิดธาตุทั้ง ๔ พิการ ดังนี้

๑. พันธุกรรม โดยเฉพาะทางมารดา เมื่อตอนตั้งครรภ์มารดามีภาวะของธาตุทั้ง ๔ ไม่สมบูรณ์

๒. อาหาร โดยการกินอาหารที่ไม่ถูกกับธาตุของตนเอง หรือกินของแสลงกับธาตุของตนอยู่เป็นประจำ เช่น กินอาหารเผ็ดร้อนเป็นประจำ กินอาหารฤทธิเย็นเป็นประจำ สุรา ยาเสพติด บุหรี่ เป็นต้น

๓. อากาศและสิ่งแวดล้อมที่มีเป็นมลพิษ เช่น สารตะกั่ว ควันพิษจากรถยนต์ เป็นต้น

๔. อารมณ์ มักเป็นคนที่มีภาวะควบคุมอารมณ์ของตนไม่ได้ เช่น ความเครียด วิตกกังวล ตื่นเต้นตกใจง่าย

๕. อิริยาบถ มักเป็นคนที่มีอิริยาบถ นั่ง เดิน ยืน นอน ไม่เสมอกัน นั่งมากไป ยืนมากไป เป็นต้น โดยเฉพาะอิริยาบถนั่ง นิ่ง เนิ่นนานเป็นประจำ

๖. ออกกำลังกาย มักเป็นผู้ที่มีภาวะขาดการออกกำลังกายอย่างรุนแรง

๗. การขับถ่ายของเสีย มักมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย เช่น ท้องผูก กลั้นอุจจาระปัสสาวะเป็นประจำ

แนวทางการรักษา

๑. ขับระบายของเสียที่คั่งค้างอยู่ภายใน

๒. ปรับธาตุ บำรุงธาตุ ทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์

๓. กระตุ้นการไหลเวียนของระบบกระแสประสาท การไหลเวียนโลหิต ตลอดจนการไหลเวียนของระบบทางเดินอาหาร

๔. หมั่นออกกำลังกาย กายบริหารเป็นประจำ


๕. หลีกเลี่ยงอาหารแสลงและมลพิษ

๖. ฝึกควบคุมอารมณ์ให้เป็นกลาง ๆ

แพทย์แผนไทยสามารถรักษาได้ครับ และมีความปลอดภัย ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่การรักษาต้องใช้เวลาและความอดทนที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการอยู่นะครับ

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น